กรมศิลปากรวางเป้าหมายใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอย่างยั่งยืน จากงาน ”Museum Talk” วันพิพิธภัณฑ์สากล 18 พฤษภาคม 2565 โดย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร บรรยายหัวข้อเป้าหมายการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ว่า ในการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 43 แห่งทั่วประเทศ กรมศิลปากรจำเป็นจะต้องมีความรู้และเข้าใจที่มาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งก่อนที่จะพัฒนาในอนาคต โดยในปีนี้จะให้ความสำคัญของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยมีการพัฒนาในเชิงคุณภาพ มีการอนุรักษ์สาระสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ด้วยการอนุรักษ์เชิงวิทยาศาสตร์ ให้สามารถการเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับการพัฒนาคลังเก็บโบราณวัตถุ ที่คลังพิพิธภัณฑ์กลาง ซึ่งกำลังก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ. ปทุมธานี เพื่อนำโบราณวัตถุจากทั่วประเทศมาเก็บรักษาตามมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยต่อโบราณวัตถุที่ทันสมัย และดูแลถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ ทั้งเน้นย้ำว่า การพัฒนาจะต้องสร้างความเชื่อมั่นทำให้ประชาชนมั่นใจ มีการบำรุงรักษา อนุรักษ์ ทรัพย์ของแผ่นดินที่เป็นแหล่งอารยธรรมทุกแห่งเป็นอย่างดี มีหลักการอนุรักษ์ตามมาตรฐานสากล สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยมีศักยภาพดีเยี่ยม มีการเรียนรู้ธรรมชาติของการจัดเก็บโบราณวัตถุอย่างดี ทั้งกล่าวอีกว่า จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ ให้เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย สามารถสืบค้นข้อมูลในเชิงลึกได้ โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสื่อต่างๆ เข้ามาช่วยดึงดูดให้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวีดิทัศน์ คิวอาร์โค้ด มัลติมีเดีย แสง การจำลองโบราณวัตถุ ให้เข้าใจเนื้อหาเหมาะสมกับการรับรู้ของคนทุกช่วงวัย และเนื่องจากสังคมไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 กรมศิลปากรได้เร่งรัดให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งมีการปรับปรุง และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งถนนทางลาด ห้องน้ำ ลิฟท์ และการให้บริการเข้าชมด้วย "ขณะนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเปิดให้บริการหลายด้าน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จากการจัดนิทรรศการถาวร ชั่วคราว การจัดกิจกรรมสันทนาการ และเพื่อการท่องเที่ยว อีกทั้งยังพบว่าขณะนี้มีผู้สนใจขออนุญาตเข้ามาใช้บริการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ด้วย” “อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละส่วน รวมถึงคำนึงถึงการดำเนินงานในพิพิธภัณฑ์เฉพะทาง โดยเริ่มจากส่วนกลาง ซึ่งมีศักยภาพก่อน และขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค โดยขณะนี้ได้ดำเนินงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี อาคารเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนคัมภีร์รู้อัลกุรอาน” นายกิตติพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว