แม้จะมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการธุรกิจโรงแรม อย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน นโยบายและมาตรการการควบคุมโรคโควิด-19 ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบและการขนส่งที่อาจจะกระทบต่ออัตราการทำกำไรของธุรกิจอาหาร แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการตามลำดับ .ในเรื่องนี้ นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานการตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ขาดทุนสุทธิลดลงกว่า 90% นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาส 1 ปี 2565 ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมาจากรายได้ธุรกิจอาหารและโรงแรมที่เพิ่มขึ้นรับการเปิดประเทศ และมาตรการควบคุมโรคที่ผ่อนคลายลง จึงทำให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) 184 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปี 2564 เป็นขาดทุนสุทธิลดลงกว่า 90% อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีรายได้รวม 3,882 ล้านบาท เทียบจากไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 2,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,108 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 951 ล้านบาท เทียบจากไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 465 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 96% เทียบปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 24% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ 18% ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 184 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 157% เทียบกับปีก่อน คือไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ขาดทุน 324 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิปรับตัวลดลง 91% โรงแรมตปท.ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายกันย์ ยังกล่าวต่อว่า ในธุรกิจโรงแรมนั้น ผลการดำเนินงานของโรงแรมในต่างประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้ง มัลดีฟส์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และโรงแรมที่ดูไบ มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูง จากงาน World Expo ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในขณะที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากผ่อนคลายมาตรการต่างๆในการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 197% อยู่ที่ 1,957 บาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) เพิ่มจาก 14% เป็น 35% ในไตรมาส 1 ปี 2565 และที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 16% เทียบปีก่อน เป็น 5,660 บาท ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 1,249 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 748 ล้านบาท หรือ 149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการเติบโตของรายได้ในธุรกิจอาหารนั้น มาจากปัจจัยบวกหลายประการ ทั้ง รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ความกังวลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบการแพร่ระบาดสายพันธ์โอมิครอนไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลต้าที่ผ่านมา กระตุ้นยอดขายทุกช่องทาง อีกทั้งทางบริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นยอดขายทั้งในช่องทางของการรับประทานที่ร้าน การซื้อกลับบ้าน และการเดลิเวอรี่ รวมถึงมาตรการช็อปดีมีคืนของภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมยอดขายในไตรมาสนี้ โดยในไตรมาส 1 ปี 2565 อัตราการเติบโตจากยอดขายสาขาเดิม (%SSS) เพิ่มขึ้นในอัตรา 10% เทียบปีก่อน โดย เป็นการเพิ่มขึ้นของ 4 แบรนด์หลัก 9% และ แบรนด์อื่นๆ 15% และการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (%TSS) 15% เทียบกับปีก่อน จึงทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 2,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 16% เทียบปีก่อน ขณะที่ในปี 2565 บริษัทฯจะมีผลการดำเนินงานเต็มปีเป็นปีแรกจาก 2 โรงแรมใหม่ คือ 1. โรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย 184 ห้อง ระดับ Luxury แห่งแรกในเครือ 2. โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ จำนวน 607 ห้อง เป็นกิจการร่วมค้า บริษัทฯ ถือหุ้น 40% และรายได้จากการลงทุนในแบรนด์ใหม่ของซึ่งบริษัทฯ เข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ในสัดส่วน 51% คือ ร้านอาหาร Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi ที่ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 38 สาขา ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะคาดการณ์ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีแนวโน้มที่ดี แต่บริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อบริหารจัดการเรื่องการเงินอย่างเหมาะสม และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อัตราส่วนสภาพคล่องดีขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่ 0.7 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.9 เท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า โดยในปี 2565 บริษัทฯ ประมาณการธุรกิจโรงแรมอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 40% - 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700 – 1,900 บาท และธุรกิจอาหาร อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) 10% ถึง 15% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 180-200 สาขา