เพราะโควิด-19 ทำให้บรรดาน้องๆหนูๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติเกือบ 2 ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ แต่ตอนนี้เปิดเทอมแล้ว ทำให้เราได้เห็นภาพบรรยากาศการรับส่งนักเรียนที่คุ้นเคยกลับมาอีกครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่าบริเวณหน้าโรงเรียน สถานที่ราชการ หรือบริเวณสี่แยกที่การจราจรพลุกพล่าน ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเวลา 06.00-08.30 น. และช่วงเย็นเวลา 15.00-18.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน
กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียน จึงให้พี่ๆ เทศกิจเข้าไปช่วยอำนวยการจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน อำนวยความสะดวกนำพาน้องๆ ข้ามถนน ช่วยดูแลเวลาน้องๆ ขึ้น-ลงรถโดยสารประจำทาง ซึ่งได้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องทุกวันจันทร์-ศุกร์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “เทศกิจ School Care”
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักการศึกษาได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขตในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอาสาจราจรปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป บริเวณด้านหน้าโรงเรียน สถานศึกษา ซอยแยกหรือจุดตัดที่มีปัญหาการจราจร จำนวน 549 โรงเรียน แยกเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 404 โรงเรียน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา 64 โรงเรียน และโรงเรียนเอกชน 81 โรงเรียน
โดยในปี 2565 นี้ มีเจ้าหน้าที่เทศกิจอาสาจราจรปฏิบัติหน้าที่รวม 1,120 นาย/วัน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน และช่วงหลังเลิกเรียน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศกิจยังได้ฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของโรงเรียน เช่น ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ รปภ. ให้มีความรู้ด้านการปฏิบัติการอำนวยการจราจร เพื่อให้มีทักษะและร่วมปฏิบัติกับเจ้าที่เทศกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังช่วยดูแลป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ด้วย โดยจะดูแลเกี่ยวกับการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย
การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนที่พี่ๆ เทศกิจช่วยดูแลน้องๆ เช่น การห้ามรถ การโบกรถ ช่วยเหลือจูงนักเรียนข้ามถนนและส่งต่อให้แก่อาจารย์ของโรงเรียน หรือแม้แต่การขึ้น-ลงรถส่งบุคคลของนักเรียน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับน้องๆ และผู้ปกครองอีกด้วย
และเพื่อให้น้องๆนักเรียนเดินข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง ตรวจสอบสัญญาณไฟกระพริบและทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน ประสานกับทางกรมเจ้าท่า ตรวจสอบท่าเทียบเรือเพื่อปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขัน ไม่ให้มีการตั้งวางจำหน่ายสินค้าของผู้ค้าบนทางเท้า และผิวการจราจรในลักษณะกีดขวางทางเดินของเด็กนักเรียน บริเวณด้านหน้าและโดยรอบโรงเรียนอีกด้วย
สำหรับพื้นผิวจราจรที่มีการก่อสร้างใกล้โรงเรียนก็ได้กำชับสำนักการโยธาให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบที่มีการใช้พื้นผิวจราจรในการก่อสร้าง โดยให้แบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็นช่วงๆ สำหรับดำเนินงานก่อสร้างเท่าที่จำเป็น ตลอดจนตรวจสอบดูแลสภาพผิวจราจรในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยให้รถสัญจรผ่านโดยสะดวก กรณีที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จะต้องจัดซ่อมผิวจราจรชั่วคราว โดยการปิดผิวจราจรด้วยแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็ก และปรับระดับแผ่นคอนกรีต เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ชั่วคราวจนกว่าจะดำเนินการจัดซ่อมถาวรและคืนพื้นผิวจราจรให้กรุงเทพมหานครเป็นที่เรียนร้อย