.
สมาชิกปีกแรงงานพรรคก้าวไกลภาคอีสาน นำส่ง 10,000 รายชื่อร่วมแคมเปญเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ชี้การรณรงค์ได้รับเสียงสนบสนุนจากประชาชนอย่างมาก หวังเห็นงบประมาณลงท้องถิ่นสร้างการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัด
.
สมาชิกปีกแรงงานพรรคก้าวไกล นำ 10,000 รายชื่อจากเครือข่ายแรงงานและประชาชนจากหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจากจังหวัดอุดรธานี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า
.
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้ให้การต้อนรับและรับเอกสารรายชื่อด้วยตนเอง ก่อนกล่าวขอบคุณที่เครือข่ายแรงงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ในครั้งนี้ สำหรับการรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ คณะก้าวหน้ามั่นใจว่าจะได้รายชื่อประชาชนตามจำนวนที่กฎหมาย พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย กำหนดไว้ เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาได้ และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ตามกระบวนการของสภา หรือไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้น คาดว่าน่าจะได้เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาต่อไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
.
“หากการยุติรัฐรวมศูนย์เกิดขึ้นได้จริง ตามข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ท้องถิ่นทุกแห่งจะเบ่งบาน จะมีการแข่งขันกันพัฒนา มีงบประมาณเพียงพอดูแลพื้นที่ และมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะของตนเองในพื้นที่ สามารถทำได้ทุกเรื่อง ยกเว้นทำไม่ได้แค่บางเรื่อง เช่น เรื่องเงินตรา เรื่องการมีกองทัพ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ เมื่อท้องถิ่นพัฒนามีความเจริญขึ้น ประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นก็จะเข้มแข็งขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะอำนาจและงบประมาณอยู่ใกล้มือประชาชนมากขึ้น” ธนาธรกล่าว
.
ด้านนิคม ระชินลา สมาชิกปีกแรงงานพรรคก้าวไกลภาคอีสาน ระบุว่าที่ผ่านมาการรณรงค์ของสมาชิกปีกแรงงาน ได้เข้าไปพบปะกับเครือข่ายแรงงาน ประชาชน และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่หลายแห่งของภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลายคนเปรียบว่าอุดรธานีเป็นเมืองหลวงของแรงงานอพยพในภาคอีสาน โดยได้ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้นำท้องถิ่นในเรื่องเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งทั้งผู้นำท้องถิ่นและประชาชนที่ได้เข้าไปพบปะด้วยต่างเข้าใจในการรณรงค์ครั้งนี้ เห็นด้วย และมีส่วนช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่จนได้รายชื่อมาถึง 10,000 รายชื่อมาในวันนี้
.
นิคมยังระบุด้วยว่า ประชาชนที่ตัวเองไปพบปะมา มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการกระจายทรัพยากรและงบลงสู่ท้องถิ่น เพิ่มงบประมาณพัฒนาพื้นที่ จะทำให้ประโยชน์ตกกับประชาชนมากที่สุด โดยไม่ต้องผ่านกลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่กำหนดนโยบายครอบงำท้องถิ่นอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ซ้ำเติมบริบทในพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอยู่แล้ว และยิ่งทำให้ประชาชนยากจนลง จนต้องอพยพกันเข้าไปหางานตามเมืองใหญ่ ซึ่งอุดรธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่แรงงานอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่จำนวนมาก
.
ด้วยเหตุนี้ ประชาชนที่ไปพบเจอมาจึงมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยการนำอำนาจกลับมาสู่ท้องถิ่นให้มีงบประมาณที่เพียงพอ ให้บ้านเกิดของพวกเขาได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงเสียที
.
“ประชาชนเข้าใจและสนับสนุนเต็มที่ เขาชอบข้อเสนอของเราหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคอีสานอยู่กับการขาดงบประมาณของท้องถิ่นมานาน อะไรๆ ก็เดินหน้าไม่ได้เพราะติดอยู่ที่การไม่มีงบประมาณ การต้องรออนุมัติลงมาจากส่วนกลาง เขาจึงเข้าใจเป็นพิเศษ และได้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าหากทำสำเร็จ หากผ่านสภาได้ แล้วประกาศบังคับใช้ ประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนเต็มที่ จะมีงานทำใกล้บ้าน อาจไม่ต้องอพยพไปหางานทำในเมืองใหญ่เหมือนเช่นทุกวันนี้” นิคมกล่าว