ทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร ในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ในปี 2564 สร้างมูลค่ารวม 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 246,580 ไร่ เกษตรกร 25,749 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 343,900 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,658 กิโลกรัม/ไร่ นายกิตติ ผลคิด ประธานแปลงใหญ่ ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ.2532 อำเภอปะทิว ได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำลายพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่จนหมดสิ้น เกษตรกรผู้รักทุเรียนในพื้นที่ตำบลทะเลทรัพย์ จึงมีการปลูกพืชทุเรียนทดแทนพืชที่ได้รับความเสียหายโดยเกษตรกรนำพันธุ์ทุเรียนจากพื้นที่ตำบลวังใหม่ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มาปลูกทดแทน ซึ่งพื้นที่ของตำบลทะเลทรัพย์ เป็นดินแดง ดินดี หน้าดินลึก ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การปลูกทุเรียน เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง เพราะเป็นพันธุ์ที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเอกลักษณ์ผลสีเขียวสด เนื้อหนานุ่มสีเหลืองทอง กลิ่นหอม เมล็ดลีบ หวานมัน เข้มข้น หอม อร่อย อุดมไปด้วยสารอาหาร จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และ ในปี พ.ศ.2559 เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ตำบลทะเลทรัพย์ ได้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลทะเลทรัพย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน พื้นที่รวมกว่า 800 ไร่ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นพัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและการบริหารจัดการด้านการตลาดร่วมกัน โดยสมาชิกมีการผลิตทุเรียนตามมาตรฐานเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทุเรียนทุกผล มีอายุการเก็บเกี่ยวที่ 120 วัน หลังดอกบาน ทำให้มั่นใจได้ว่า เป็นทุเรียนแก่จัด มีคุณภาพ หวาน มัน เหมาะแก่การบริโภค สมาชิกกลุ่มมีการขับเคลื่อนภายใต้การสนับสนุนองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปะทิว โดยมีนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ประธาน ศพก.อำเภอประทิว เจ้าของสวนทวีทรัพย์ ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นเกษตรกรต้นแบบ และได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาทำสวน ประจำปี 2565 ซึ่ง ศพก. ได้ขยายองค์ความรู้ไปสู่แปลงใหญ่เน้นการผลิตทุเรียนโดยใช้ระบบการเกษตรแบบผสมผสาน นายธีระศักดิ์ ยมสวัสด์ เกษตรจังหวัดชุมพร ให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 กลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลทะเลทรัพย์ เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้แก่ โดรน รถแทรกเตอร์ เครื่องย่อยกิ่งไม้ เครื่องแอร์บัส รถกระเช้า ในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และใช้นวัตกรรมการห่อผลทุเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เทคโนโลยีที่ได้รับจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด สามารถลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิกได้ร้อยละ 30 และจากผลการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมากลุ่มมีแผนสำหรับการจัดซื้อ โดรนเพิ่มอีก 1 เครื่องในปี 2565 เพื่อให้บริการแก่สมาชิกกลุ่มอย่างทั่วถึง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจังหวัดชุมพรมีแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 27 แปลง ประกอบด้วย อำเภอปะทิว 3 แปลง อำเภอท่าแซะ จำนวน 3 แปลง อำเภอเมืองชุมพร 2 แปลง อำเภอสวี 4 แปลง อำเภอทุ่งตะโก จำนวน 4 แปลง อำเภอหลังสวน 5 แปลง อำเภอพะโต๊ะ 3 แปลง อำเภอละแม 3 แปลง ทุกแปลงมีการวางแผนกิจกรรม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต การบริหารจัดการ ตลาด ในทิศทางเดียวกันผ่านเครือข่ายแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดชุมพร ด้าน นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ให้ข้อมูลว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559-2565 ภาคใต้มีแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 111 แปลง โดยเน้นย้ำให้ทุกกลุ่มผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัย ไม่ตัดทุเรียนอ่อน และส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่มีการรวบรวมรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายออนไลน์ ทั้งนี้กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลทะเลทรัพย์ ได้มีการรวบรวมรวมผลผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งผลสดและแปรรูปหลายช่องทาง โดยสมาชิกกลุ่มมีการรวมกลุ่มย่อยในการรวบรวมผลผลิตทุเรียนจำหน่ายให้กับจุดรับซื้อ (ล้ง) โดยการคัดเกรด มีรวบรวมผลผลิตเกรดพรีเมียมส่งห้างสรรพสินค้า เช่น ท็อปส์ มาร์เก็ต เดอะมอลล์ เป็นต้น และจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มได้นำผลผลิตที่ตกเกรดจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปทุเรียนแซ่แข็ง และทุเรียนฟรีชดรายซึ่งก่อตั้งโดยสมาชิกกลุ่ม จำนวน 2 จุด โดยให้ราคามากกว่าท้องตลาด 3-5 บาท/กิโลกรัม หากท่านใดต้องการบริโภคทุเรียนคุณภาพ หวาน มัน และมั่นใจว่าปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่แปลงใหญ่ทุเรียนตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ 09 6624 9636