นึกไม่ออกจะถูกปฏิเสธเพราะอะไร ? "ปิยบุตร" ยกปัญหาใหญ่รัฐราชการรวมศูนย์ 3 ข้อ - มั่นใจ เรื่องกระจายอำนาจ ทุกฝ่ายเอาด้วย วันที่ 17 พ.ค.65 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในรายการ "ดาวดิน ทอร์ก" หัวข้อ "ยุติรัฐราชการรวมศูย์ เอายังไงต่อ" ตอนหนึ่งว่า ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ในประเทศไทยเป็นอุปสรรคในบริหารราชการแผ่นดิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ได้แก่ 1.สร้างปัญหาในชีวิตประจำวัน เนื่องจากอำนาจที่รวมเข้าไปนั้นเป็นอำนาจที่แตกเป็นเสี่ยงๆ หน่วยงานใครหน่วยงานมัน ทำให้เกิดโครงการที่ประชาชนไม่อยากได้แต่ส่วนกลางจัดมาให้ ขณะสิ่งที่ประชาชนอยากได้กลับไม่ทำ นอกจากนี้จะติดต่อให้หน่วยงานราชการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ก็โยนกลองกันวุ่น แต่ละหน่วยก็บอกว่าตนไม่มีอำนาจบ้าง ไม่มีงบบ้าง ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพแท้จริง 2.สร้างการเมืองเชิงเครือข่ายอุปถัมถ์ ประชาชนที่เดือดร้อนต้องวิ่งหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อให้แก้ปัญหา ทั้งๆ ที่ ส.ส.ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ แต่ ส.ส.ก็ต้องช่วยเหลือด้วยการวิ่งหารัฐมนตรีเพื่อของบฯ มาทำพื้นที่ ไม่งั้นสมัยหน้าสอบตก พร้อมกันนี้ก็ต้องส่งเมีย ส่งลูก ส่งน้องลงการเมืองท้องถิ่นไว้เพื่อทำงานช่วยเหลือนี้ เกิดเป็นเครือข่าย คนหน้าใหม่ต้องการเข้ามาสนามการเมืองก็ต้องไปต่อคิวเข้าในระบบ และ 3.กดทับพลังทางเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไม่ให้ระเบิดพลังออกมา นอกจากนี้ การกดทับความแตกต่างเช่นนี้ ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งด้วยในบางพื้นที่ 4.ความที่ระบบราชการใหญ่โตทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหา เพราะแทนที่ส่วนกลางจะได้ไปคิดทำภาพใหญ่ เช่น เศรษฐกิจมหภาค การลงทุนระดับประเทศ ราชการส่วนกลางกลับต้องมาหมดเวลากับเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ซึ่งควรเป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่ทว่าท้องถิ่นที่อยากทำและทำได้ดีกว่าเพราะรู้ปัญหาอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ กลับไม่ได้ทำเพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีงบ "ปัญหาของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง แท้จริงแล้ว คือ การที่เรายังไม่ได้เอาอำนาจอย่างเต็มรูปแบบไปไว้ที่ท้องถิ่น และการที่ยังมีอำนาจซ้ำซ้อนกันระหว่างราชการส่วนกลาง ราชการภูมิภาค กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งถ้าไปดูในส่วนกฎหมายอำนาจส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคจะเขียนไว้กว้างมาก ขณะที่ท้องถิ่นนั้นน้้นต้องไปเปิดดูกฎหมายจัดตั้ง อปท.ว่ามีอำนาจให้ทำอะไรได้บ้าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ มีอำนาจอะไรให้บ้าง จะทำเกินนี้ไม่ได้ ซึ่งหลายเรื่องก็ไปซ้อนทับกับกรม กระทรวงต่างๆ แล้ววิธีการตีความขององค์กรต่างๆ คือให้มีอำนาจทั้งคู่ทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ก็เลยให้ต่างคนต่างทำ ซึ่งแน่นอนว่า กรม กระทรวงมีศักยภาพกว่าทั้งบุคลากร งบประมาณ เครือข่าย ที่มากกว่า ลักษณะแบบนี้ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ส่วนกลางขึ้นมาขี่คอกดทับท้องถิ่นไปโดยปริยาย ดังนั้น ข้อเสนอของเราคือเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนอำนาจใหม่ โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่าให้ท้องถิ่นมีอำนาจในจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่่ตัวเองทุกเรื่อง ยกเว้นบางเรื่อง เช่น การต่างประเทศ การเงินการคลัง ความมั่นคง และส่วนกลางมีหน้าที่เสริมถ้าท้องถิ่นไหนไม่มีศักยภาพ หรือท้องถิ่นนั้นร้องขอมา เมื่อเป็นแบบนี้บริการสาธารณะในพื้นที่ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนกลางก็จะได้ไปคิดเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศ และถ้าจัดการเรื่องอำนาจให้เป็นแบบนี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดคำถามว่ายังจะต้องมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ เราเสนอให้ทำประชามติถามประชาชนต่อไป"นายปิยบุตร กล่าว นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาพใหญ่อย่างจัดการกลไกค้ำยันระบอบประยุทธ์หรือแก้ไขเพื่อไปสู่การทำใหม่ทั้งฉบับนั้น ในความเห็นตนแล้วคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเขาได้ประโยชน์ เพราะเขาเกิด เติบโต แพร่พันธุ์ และสืบทอดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนอกจากนี้กระบวนการแก้ไขยากมาก ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมด้วยทุกครั้ง สิ่งที่แก้ได้ทุกวันนี้ จึงเป็นแค่เรื่องของระบบการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์นั้น แก้ยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม การรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ของเราในครั้งนี้ ก็เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ, ส.ว., หรือแม้แต่ผู้ชุมนุมอย่าง กปปส. ก็เห็นด้วย และเอาด้วยกับเรื่องการกระจายอำนาจ ทุกพรรคการเมืองพูดหมด ทุกกลุ่มการเมืองพูดหมด ทุกคนเอาด้วย ส่วนจะพูดเพราะโดนสภาพบังคับให้พูดหรือย่างไรไม่รู้ จะเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจจริงไม่จริงอย่างไรไม่รู้ แต่ฉันทามติเริ่มเกิดแล้ว และถ้าร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งคาดว่าถ้าไม่มีการยุบสภาไปก่อนก็น่าจะเป็นช่วงปลายปี อย่างนี้ตนก็คิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราในเรื่องนี้ก็น่าจะมีโอกาสผ่าน เพราะนึกไม่ออกเลยว่าจะถูกปฏิเสธเพราะอะไร "สำหรับในส่วนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีกระแสข่าวออกมาต่อต้านในเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงว่าการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นแต่เพียงการเอาอำนาจไปให้กับท้องถิ่นและจัดการเรื่องอำนาจหน้าที่ของส่วนกลางกับท้องถิ่นที่มันซ้ำซ้อน สำหรับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยที่ผ่านมาก็มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบในแต่ละรูปแบบ และแน่นอนว่าทางแก้ที่ดีก็คือการสร้างบทสนทนาหาทางออก ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาซุกไว้ใต้พรมไปเรื่อยๆ สำหรับในความเห็นของผมนั้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในยุคก่อนมีการกระจายอำนาจนั้นมีความจำเป็น เพราะช่วยเหลือประชาชนได้เข้าถึงกว่า แต่ต้องมาคิดกันว่าเมื่อกระจายอำนาจเกิดแล้ว ต้องปรับ ต้องทำอย่างไรเมื่อระบบราชการเปลี่ยน เรื่องนี้รัฐบาลต้องไปออกแบบมา จะยกระดับเป็นพนักงานราชการท้องถิ่นมีเงินเดือนประจำไหม หรือจะมาอยู่ในส่วนสิ่งที่เราเสนอให้มีอย่างสภาพลเมือง หรือหากเห็นว่าในเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจ มีงาน มีเงิน มีคน มีความเป็นอิสระเต็มที่แล้ว อย่ากระนั้นเลย อาสาสมัครเป็นนายกฯท้องถิ่น น่าจะมีโอกาสช่วยประชาชนได้ดีกว่า ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ เรื่องนี้ต้องถกต้องคุยกันยาวๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพราะนี่จะทำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านได้เกียรติยศ ศักดิ์ศรี มีบทบาทชัดเจนที่ได้ดูแลประชาชนกลับคืนมา ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเครื่องมือของราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของมหาดไทย แต่ต้องปลดล็อกให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกลับมามีบทบาทบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ใกล้ชิดประชาชน ไม่เป็นเครื่องมือรัฐราชการ"นายปิยบุตร กล่าว