วันที่ 16 พ.ค.65 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า...
[ปล่อยจำเลยคดีการเมือง ปล่อยจำเลยคดีเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้พวกเขาได้สู้คดีเต็มที่ อย่าซ้ำรอย "อากง" อีก]
.
ปัจจุบันจนถึง ณ วันนี้ (15 พฤษภาคม 2565) มีจำเลยและผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขังและไม่ให้ประกันตัวเป็นจำนวนอย่างน้อย 12 คน
.
ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องคดีมาตรา 112 ถึง 7 คน
.
คุณเวหา ถูกจับกุมระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และไม่ให้ประกันตัว จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คที่ถูกกล่าวหาว่าผิดมาตรา 112 (แต่ไม่ได้ระบุว่าผิดตรงไหน) ถูกคุมขังมาแล้ว 65 วัน
.
คุณโสภณ ถูกตำรวจนับสิบนายล้อมจับและตั้งข้อหาว่าปราศรัยลดทอนคุณค่าของสมเด็จพระราชินีสุทิดา ศาลไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าหาปล่อยอาจหลบหนีหรือไปกระทำการในทำนองเดียวกันอีก
.
คุณ "ใบปอ" และคุณเนติพร ถูกถอนประกันตัวในคดีทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่หน้าห้างสยามพารากอน โดยอ้างเหตุแห่งการถอนว่าได้ไปทำโพลล์เกี่ยวกับราชวงศ์อีกครั้ง
.
คุณสมบัติ ทองย้อย ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความที่รวมถึงคำว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" แม้จะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อและขอประกันตัวมาแล้ว 2 ครั้ง ชี้แจงเหตุผลว่าไม่เคยหลบหนี ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไข และมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลครอบครัว รวมถึงยอมติดกำไล EM แต่ศาลก็ยังอ้างว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
.
คุณทานตะวัน ถูกถอนประกันตัวในคดีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จที่ถนนราชดำเนินนอก โดยศาลอ้างเหตุแห่งการถอนว่าได้เข้าร่วมขบวนเสด็จโดยใส่ชุดดำ ซึ่งเป็นกรณีนอกเหนือจากที่ตำรวจยื่นคำร้องเข้ามา ปัจจุบันได้อดอาหารประท้วงในเรือนจำมาแล้ว 24 วัน (ดื่มนมเพียง 3 กล่องต่อวัน) จนแพทย์ต้องมาติดตามอาการใกล้ชิด
.
และคุณอัญชัญ ซึ่งถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 87 ปี (ลดเหลือ 43 ปี 6 เดือน) และต้องสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2564 เกือบ 1 ปี 4 เดือนมาแล้ว
.
นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีกเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันพบว่ามีคดีมาตรา 112 อยู่ในชั้นอัยการและชั้นศาลเป็นจำนวนอย่างน้อยถึง 188 คดี ยิ่งเมื่อประกอบกับข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ได้เชิญตัวแทนจากตำรวจ อัยการ ศาล และผู้ถูกดำเนินคดีมาซักถามในเรื่องดังกล่าว พบว่ามีหลายคดีที่อัยการสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงดุลพินิจ แต่ไม่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ หรือหลายคดีศาลสั่งขังโดยยังไม่มีการไต่สวนพยาน เมื่อจะขอดูรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่ใช้ (ซึ่งอ้างว่ารับมอบนโยบายมาจากประธานศาลฎีกา) ก็ไม่ยอมเปิดเผย อ้างว่าเป็นความลับทางราชการ เช่นนี้แล้วจึงน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจำเลยคดี 112 และคดีการเมืองอื่นๆ จะไม่พ้นต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับ 7 ท่านที่กล่าวไปข้างต้น
.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ผมได้เขียนโพสต์บอกเราเรื่องราวเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การจากไปของคุณอำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคร้ายในเรือนจำ
.
มีเรื่องหนึ่งที่ผมอาจยังไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดคือหลังจากที่อากงถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลชั้นต้นแล้ว อากงได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อ รวมถึงยื่นประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ แต่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว อากงจึงได้ยื่นฎีกาคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนั้น แต่ศาลฎีกาก็ยกคำร้องของอากงอีก อากงจึงไม่ได้ออกจากคุกอีกเลยจนวันสุดท้ายของชีวิต
.
บางทีถ้าอากงได้ประกันตัวออกมา อากงอาจได้รับการรักษาสุขภาพที่ดีกว่า มีกำลังใจในการสู้คดีต่อ และไม่ต้องเสียชีวิตเช่นนั้นก็ได้ หรือหากเสียชีวิตก็ยังได้อยู่ด้วยกันกับลูกหลานในวาระสุดท้าย
.
ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาทั้งหลายตระหนักดีว่ากรณีของจำเลยคดีทางการเมืองรายต่างๆ รวมถึงจำเลยมาตรา 112 นั้นไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะขังพวกเขาไว้ แต่ผมคงไม่อาจใช้อำนาจปล่อยพวกเขาออกมาได้ สิ่งที่ผมทำได้คือขอให้พวกท่านคิดไตร่ตรองให้ดี ยึดถือหลักกฎหมายและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปล่อยจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ และให้ประกันตัวจำเลยคนอื่นๆ ตามสิทธิที่เขาควรได้รับ ให้พวกเขาได้ออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ ใม่ใช่ต้องอยู่ในเรือนจำ ต้องทนกับความเจ็บป่วยทางร่างกายและความทุกข์ทรมานต่อจิตใจ แปรสภาพให้กฎหมายที่ควรเป็นเครื่องคุ้มครองสวัสดิภาพกลับกลายเป็นเครื่องทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้
.
อย่าให้ต้องเกิดเหตุซ้ำรอยกรณีของอากง ให้เป็นที่อัปยศต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอีกเลย