นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางลงเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เพื่อมาร่วมงานประเพณีลอยเรือ ชาวเลอูรักลาโว้ย จ.สตูลกันอย่างคึกคัก โดยทันทีที่กลองดังขึ้นจากชาวเล หญิงชายที่เป็นลูกหลานและพ่อค้าแม่ค้าบนเกาะหลีเป๊ะก็ออกมาเต้นรำรอบสุสานโต๊ะฆีรี บรรพบุรุษของชาวเลที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกที่อยู่อาศัยของชาวเลจนมาอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะในวันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานประเพณีลอยเรือชาวเล หรือชาวน้ำ ที่มีการนำข้าวตอกดอกไม้มาเซ่นไหว้ บูชาให้โต๊ะฆีรี และบรรพบุรุษได้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะทำพิธีลอยเรือกันในเช้าวันพรุ่งนี้ งานประเพณีลอยเรือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ ในเขตอำเภอเมืองฯ ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู ชาวเล ได้อยู่อาศัยบริเวณหมู่เกาะแถบนี้เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ชาวเลมีนิสัยชอบอยู่เป็นอิสระไม่ชอบคบค้าสมาคมกับชนกลุ่มอื่น ชอบรวมอยู่เป็นพวกเดียวกัน มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปหากินไม่อยู่เป็นหลักแหล่งมีแบบแผนประเพณีและภาษาของตนเอง เดิมเป็นชนที่ไม่มีศาสนา เชื่อในเรื่องผีสางวิญญาณ โดยในวันพรุ่งนี้ จะมีการลอยเรือของชาวเลในจังหวัดสตูล ทำที่หมู่เกาะหลีเป๊ะได้ทำกันมานานแล้วจุดมุ่งหมายในการทำพิธีลอยเรือก็คือ เพื่อการลอยบาปและเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ การลอยเรือจะทำปีละสองครั้ง โดยทำในเดือน 6 และในเดือน 12