บทความพิเศษ / ยูร กมลเสรีรัตน์
5 ปี ลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนลาว อย่างลำบาก ทุลักทุเล ต้องย้ายที่พักอาศัยในป่าที่เป็นกระต๊อบไม่มีฝา หนีภัยครั้งแรกครั้งเล่า หากไม่หนี ก็มีหวังกลายเป็นศพลอยในแม่น้ำโขงเหมือนเพื่อนที่ครั้งหนึ่งเคยพักอาศัยอยู่ด้วยกัน
2 ปีลี้ภัยในฝรั่งเศส ประเทศนี้อ้าแขนต้อนรับวัฒน์ วรรลยางกูรด้วยความยินดี ในฐานะนักเขียนและผู้ลี้ภัย หากก่อนหน้านี้มีเพียงบางคนที่รู้ว่า เขาจะไปลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษ แต่สุ่มเสียงสูงในการถูกส่งกลับประเทศ จึงเบนเข็มสู่ฝรั่งเศส ประเทศแห่งอารยธรรมด้านศิลปะและวรรณกรรม มีนักเขียนรางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก โดยมีอาจารย์จรัญ ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วัย 74 ปี ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 7 ปี เป็นผู้ช่วยเหลือและผลักดัน
“อยู่อพาร์ตเม้นท์สบายเลยยูร” เสียงของวัฒน์ วรรลยางกูรดังมาทางวิดีโอคอล “พักฟรี น้ำ ไฟฟ้า เตาแก๊สฟรี มีเครื่องทำน้ำอุ่น อ่างอาบน้ำให้ด้วย”
“ดีจัง เราดีใจด้วยจริง ๆ วัฒน์” ผมกรอกเสียงลงไปในมือถือ
“ไม่เครียดเหมือนอยู่ลาวแล้ว ตอนอยู่ลาวเครียดมาก เขียนหนังสือไม่ได้เลย ต้องย้ายที่อยู่ตลอด กินเหล้าทุกวัน เหล้าป่า แรงมาก ตื่นเช้ามา กินเลย”
“เป็นเรา ก็กิน คนมันเครียดนี่นา ต้องหนีตลอด ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่” ผมพูดจากความรู้สึก
วัฒน์ วรรลยางกูรเงียบไม่พูดอะไร เขาคงคิดไม่ถึงว่าผมจะเข้าใจความรู้สึกของเขาในภาวะล่อแหลม เหมือนคนที่เดินบนเส้นลวดกระนั้น คนเราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เป็นเขา เราไม่รู้หรอก คนที่อยู่ไปวัน ๆ ไม่มีทางออก ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ อ้อ! “บนเส้นลวด” เป็นชื่อนวนิยายเด่นอีกเรื่องของเขานะ หลังออกจากพงไพร นวนิยายเรื่องนี้ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร สตรีสารเข้มมากไม่ใช่จะผ่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการรุ่นครูได่ง่าย ๆ
“ตอนนี้ไม่เครียดแล้วนะ” ผมเอ่ยขึ้นเป็นเชิงถาม
“ตอนนี้ไม่เครียดแล้ว สบายแล้ว” น้ำเสียงของเขาดังแจ่มใสเหมือนกับสีหน้า “รัฐบาลฝรั่งเศสเขาดูแลดีมาก มีเงินเดือนให้หกพันแปด มีอพาร์ตเม้นท์ให้อยู่ฟรี น้ำไฟฟรี มีเครื่องทำน้ำอุ่น เตาแก๊สให้ใช้ด้วย ห้องน้ำมีอ่างอาบน้ำด้วย มีตั๋วรถเมล์รายเดือน”
“รัฐบาลฝรั่งเศสเขาดูแลดีจริง ๆ” ผมชม “เขาให้ความสำคัญนักเขียน ศิลปิน ไม่ต้องหนีอีกแล้ว”
วัฒน์ วรรลยางกูรบอกว่าในเวลานี้เขากำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่ เป็นสารคดีและถือว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่ลี้ภัยอยู่ที่ลาว จนกระทั่งมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส ชื่อ”7 ปีที่ลี้ภัย”
“เขียนลื่นมาก เพราะเขียนด้วยความสุข เขียนแบบสบาย ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องกังวลเรื่องเลี้ยงชีพเหมือนแต่ก่อน เตย(วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวคนสุดท้อง) ซื้อโน้ตบุ้คให้”
“เดี๋ยวนี้ทันสมัยแล้วนะ ไม่ต้องเขียนใส่กระใส่กระดาษเหมือนแต่ก่อน”ผมเย้า แล้วถามว่าเขียนได้มากแค่ไหน
“เขียนได้เป็นร้อยหน้าแล้ว” เขาตอบ
เมื่อผมถามว่า จะให้ใครพิมพ์ให้ เขาบอกว่าสำนักพิมพ์อ่านของ....... เคยทำนิตยสารอ่าน ตอนนี้มาพิมพ์พ็อกเก็ตบุ้ค ผมอดชื่นชมในใจไม่ได้ว่า สำนักพิมพ์อ่านกล้าหาญมาก หนังสือยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ค ขายยากมาก ๆ คนพิมพ์ต้องมีอุดมคติจริง ๆ
เมื่อมีโอกาสเราจะแชทกันทาง message หลายครั้ง ถามไถ่ทุกข์บ้าง เรื่องสัพเพเหระบ้าง ครั้งหนึ่งผมแนะเขาให้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนฝรั่งเศส เขาบอกว่าภาษายังไม่ได้เลย ไปสอบแล้ว ไม่ผ่าน เพราะความใส่ใจน้อยของเขาเอง จะต้องตั้งใจกว่านี้ ในเวลาต่อมาเขาเล่าว่า เขาสอบผ่านแล้ว ผมแสดงความยินดีกับเขา แล้วทักเป็นภาษาฝรั่งเศสส่งไปว่า
“บองชู(สวัสดี)”
“สำเนียงฝรั่งเศสออกเสียงว่า บงชูร์” เขาแชทมา
อีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อเราโทรทางเฟส.คุยกัน วัฒน์ วรรลยางกูรบอกว่า เขาเขียนได้หลายร้อยหน้าแล้ว เร็ว ๆ นี้คงเสร็จทันงานเดือนตุลาคม ในเวลานี้เขาย้ายไปเช่าบ้านอยู่แล้ว หลังจากสอบภาษาฝรั่งเศสผ่าน รัฐฯช่วยออกให้ส่วนหนึ่ง มีเงินเดือนให้ร่วมสองหมื่น เป็นผู้ลี้ภัยถาวรแล้ว
ผมดีใจกับเขา เล่าให้เพื่อน ๆ ทั้งที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดฟังทางโทรศัพท์ รวมทั้งเรื่องผลงานเล่มใหม่ของวัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง “7 ปีที่ลี้ภัย” เพื่อน ๆ บอกว่า หนังสือขายได้อยู่แล้ว งานแบบนี้คนอยากรู้เรื่องราวว่าเป็นยังไง จนได้ไปลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะหนังสือออกเดือนตุลา ซึ่งเป็นเดือนสำคัญที่อยู่ในกระแสประวัติศาสตร์การเมืองด้วย ตอนคุยกับเพื่อน อีกไม่ถึงสองเดือนก็จะถึงเดือนตุลา
ทว่า หนังสือ “7 ปีที่ลี้ภัย” ก็ไม่ได้ออกตามกำหนด ติดขัดบางอย่าง จนข้ามไปปี 2565 หนังสือ “7 ปีที่ลี้ภัย” จะจัดพิมพ์ออกมาในปลายเดือนพฤษภาคม แต่วัฒน์ วรรลยางกูรไม่มีโอกาสเห็นผลงานเล่มประวัติศาสตร์ที่แลกมาด้วยชีวิต เพราะเขาสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565