ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล
ความเป็นครูไม่ใช่แค่มีความรู้แล้วถ่ายทอดได้ แต่ต้องทุ่มเทใจติดตามดูผลการสั่งสอนนั้นด้วย
ก่อนเกษียณครูจิตราได้มาอยู่ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยครูจิตราเดาเอาเองว่าทางมูลนิธิคงจะให้มาอยู่ในพื้นที่ที่สบายมากขึ้น เพราะโรงเรียนและศูนย์สงเคราะห์ของมูลนิธิที่นี่ตั้งมานานและมีความมั่นคงเข้มแข็งดีพอควร ทั้งยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ความเจริญ และการคมนาคมก็สะดวกสบาย คือห่างจากอำเภอแม่สอดไม่ถึง 40 กิโลเมตร และมีอากาศเย็นสบายกว่าที่ชายแดนไทยลาวในโรงเรียนที่จังหวัดเลยนั้นมาก ซึ่งตอนแรกครูจิตราก็ไม่ค่อยชอบและไม่อยากย้ายมา เรื่องจากยังอยากจะพัฒนาโรงเรียนที่จังหวัดเลยนั้นให้ดียิ่งขึ้นเสียก่อน แต่พอได้ย้ายมาแล้วก็เปลี่ยนความรู้สึก เพราะที่อำเภอพบพระนี้มีปัญหารุนแรงมากกว่า งานที่นี่จึงท้าทายมากกว่า
ปัญหาที่ว่าก็คือเรื่องของภัยสงคราม โดยที่อำเภอพบพระก็อยู่ติดกับพม่า(ปัจจุบันเรียก เมียนมาร์) ซึ่งมีการสู้รบปราบปรามชนกลุ่มน้อยอยู่ใกล้ ๆ ชายแดนไทยมานับสิบ ๆ ปีแล้ว ทำให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามายังไทยอยู่เรื่อย ๆ แต่รัฐบาลไทยก็รับภาระได้แค่ให้เป็นที่พักหลบภัยชั่วคราว และคอยผลักดันส่งกลับเป็นระยะ เพราะไม่มีชาติอื่นมารับให้เข้าประเทศเป็นผู้ลี้ภัย ดังนั้นชีวิตของผู้หนีภัยเหล่านี้จึงไม่ค่อยดีนัก นอกจากไม่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังต้องมีชีวิตแบบต่ำกว่ามาตรฐาน คือทั้งอดอยากและขาดแคลนดูแลในหลายด้าน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องได้เล่าเรียนเพื่อต่อสู้กับอนาคต และมีชีวิตที่พอมีความหวังหรือต้องอยู่รอดให้ได้
มูลนิธิได้รับเด็ก ๆ ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามมาให้ได้รับการเล่าเรียนอยู่หลายสิบคน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กโต อายุตั้งแต่สิบกว่าขวบขึ้นไป เพราะในศูนย์พักพิงก็มีการดูแลเด็กในบางส่วนอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ ในขณะที่เด็กโตก็ถูกพ่อแม่นั่นแหละผลักดันให้ออกมาเรียนกับโรงเรียนของมูลนิธิ โดยคาดหวังว่าจะได้รับความรู้ที่ดีกว่า ทั้งยังหวังด้วยว่าจะได้มีผู้ให้การสงเคราะห์จากต่างประเทศมารับไปเลี้ยงในครอบครัวที่ต่างประเทศนั้น ซึ่งถือว่าเป็นความฝันของผู้อพยพเหล่านี้
ครูจิตราได้มีโอกาสสอนนักเรียนจากศูนย์พักพิงนี้ด้วยคนหนึ่ง สิ่งที่ครูจิตรามักจะตอกย้ำให้กับนักเรียนเหล่านี้ก็คือ การเป็น “พลเมืองชั้น 2” ในต่างประเทศนั้นแย่เสียกว่าการเป็นเชลยศึกสงครามหรือคนยากไร้ในบ้านเมืองของตนเองเสียอีก เพราะไม่ได้มีสิทธิเสียงหรืออิสระเสรีอย่างแท้จริงแต่อย่างใดไม่ บางประเทศมีกฎหมายควบคุมผู้อพยพเหล่านี้อย่างเข้มงวด ต้องรายงานตัวอยู่เป็นระยะทุก ๆ เดือน รวมทั้งยังห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ตามใจ ตลอดจนการติดต่อกับผู้คนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็มีข้อปฏิบัติหยุมหยิมยุ่งยาก ที่แย่ที่สุดก็คือหลาย ๆ ประเทศทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ค่อยจะต้อนรับผู้อพยพหนีภัยสงครามทั้งหลาย ทั้งยังแสดงความรังเกียจจนถึงขั้นชิงชังและโกรธแค้น ทำให้ผู้อพยพถูกทำร้ายอยู่บ่อย ๆ และมีอันตรายมาก ๆ
ครูจิตรา “แอบ” แนะนำนักเรียนเหล่านี้ให้รักชาติ (ซึ่งเป็นข้อห้ามของทางมูลนิธิรวมถึงรัฐบาลไทย ที่ไม่ต้องการที่ให้ไปทำการ “กระตุ้น” ความรู้สึกหรืออุดมการณ์เกี่ยวกับประเทศและเชื้อชาติใด ๆ ที่จะเป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศหรือเชื้อชาติต่าง ๆ นั้น) โดยไม่ได้ต้องการที่จะให้นักเรียนเหล่านั้นเกลียดชังชาติที่เป็นศัตรู แต่ต้องการให้นักเรียนค่อย ๆ ซึมซับว่า การมีชาติหรือการเคารพในเชื้อชาติของตนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้เราเห็นความสำคัญของตัวเรา เช่นเดียวกันกับที่คนอื่น ๆ เขาก็มีชาติของเขา และเขาก็คงต้องรักประเทศชาติของเขาเช่นเดียวกัน อนึ่งมนุษย์ทุกคนก็ล้วนแต่มีเชื้อชาติเดียวกัน นั่นก็คือ “มนุษยชาติ” ที่ฝรั่งเรียกว่า “Human” นั่นเอง ซึ่งการที่คนไม่เคารพในความเป็นมนุษยชาตินี่เอง ที่ทำให้มนุษย์ต้องสู้รบกัน เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของคนที่มีเชื้อชาติต่างกัน และลืมไปว่าที่สุดนั้นพวกเราก็ล้วนแต่ร่วมอยู่ในโลกของ “มนุษยชาติ” เดียวกันทั้งสิ้น
คนรอบข้างครูจิตราบางคนนินทาครูจิตราว่าเป็นคนที่ชอบ “ย้ำคิดย้ำทำ” ก็คงเป็นเพราะครูจิตราชอบพูดถึงเรื่องเก่า ๆ เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ผ่านไปแล้วมาบ่นอยู่บ่อย ๆ พอผมได้ยินมาก็เลยเอามาถามครูจิตราว่า ทำไมเธอถึงไม่ลืมอดีตและชอบขุดคุ้ยเรื่องในอดีตมาคุยอยู่เสมอ ๆ เธอก็ตอบผมว่า เธอรู้ว่ามันทำให้คนอื่นเบื่อ และเธอก็เบื่อตัวเองเหมือนกันที่เป็นคนอย่างนั้น แต่มันอาจจะเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยู่ภายใน เธอบอกว่าบางอย่างที่พูดถึงอดีตนั้นก็เป็นความภูมิใจและอยากให้คนอื่นได้รู้ แต่ไม่ใช่เอามาโอ้อวดหรือเรียกร้องให้ใคร ๆ มายกย่องสรรเสริญ เพียงแต่มันช่วยให้เธอชุ่มชื่นใจและมีกำลังใจที่จะทำอะไร ๆ ที่เธอคิดว่า “ดีๆ” นั้นต่อไป ยิ่งบางเรื่องเป็นความรู้หรือประสบการณ์ที่น่าสนใจ ก็อยากให้คนอื่นได้รู้ด้วย และอยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพราะเธอก็ชอบที่จะฟังคนอื่นเล่าเรื่องของคน ๆ นั้นให้ฟังเหมือนกัน เธอบอกว่านี่คือวิธีการของ “การเปิดใจ” ทำให้เรามีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงเมื่อรู้ว่าใครมีปัญหาก็จะได้ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งนิสัยเช่นนี้มันเหมือนกับเกิดขึ้นในตัวเธอโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ว่าเธออยากรู้เรื่องส่วนตัวของคนอื่น แต่น่าจะเป็นเพราะจิตใจที่อยากจะเช้าช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่มีอยู่มาในตัวเธอตั้งแต่เกิดนั้นมากกว่า
ครูจิตราชอบพูดถึงชีวิตในวัยเด็ก พูดถึงเพื่อนที่เธอเคยให้ความช่วยเหลือ เคยแบ่งขนมและข้าวให้กิน พูดถึงวัยรุ่นหลาย ๆ คนในสลัมคลองเตยที่เธอเคยทำโครงการช่วยเหลือมาตั้งแต่ครั้งที่เรียนมหาวิทยาลัย เธอพูดถึงเด็ก ๆ หลาย ๆ คน ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว เธอร้องไห้เมื่อเล่าถึงบางคนที่มีชีวิตที่น่าสงสารและเธอไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เธอยิ้มอย่างสดใสเมื่อเล่าถึงบางคนที่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาและมีหน้าที่การงานที่ดี บางคนได้สืบสานงานสังคมสงเคราะห์อย่างที่เธอทำ บางคนก็ยังติดต่อและส่งข่าวต่าง ๆ มาให้เธอรู้ แต่ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ทราบข่าวอะไรอีกเลย จนเธออึดอัดใจว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรหนอ
ครูจิตราเคยเสนอมูลนิธีให้ทำโครงการที่จะรวบรวม “ความก้าวหน้าในชีวิต” ของบรรดาลูกศิษย์และเด็ก ๆ ที่มูลนิธิเคยสอนและให้ความช่วยเหลือ ผู้บริหารมูลนิธิบางคนพูดให้ข้อคิดแก่ครูจิตราว่า การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น คือการช่วยเหลือที่ไม่หวังผลตอบแทน การที่เราจะไปติดตามดูใคร ๆ ที่เราให้ความช่วยแหลือไปแล้วนั้น บางทีมันก็เหมือนการไปรุกล้ำในความเป็นส่วนตัวของเขามากไป เพราะหลายคนก็ไม่อยากที่จะจดจำอดีตชีวิตที่ขมขื่น ซึ่งคนที่เราช่วยเหลือก็ล้วนมาจากสถานภาพ “แย่ ๆ” เช่นนั้นด้วยกันทั้งสิ้น การไปติดตามดูเขาก็อาจจะเป็นการสร้างภัยให้กับเขา เพราะอาจจะมีคนเอาข้อมูลของเขาในแบบนี้ไป “ต้มยำทำแกง” หรือทำให้คนที่เราเคยช่วยเหลือนั้นแย่ยิ่งขึ้นไปอีก พูดตรง ๆ ก็คือ มนุษย์ส่วนมากไม่ต้องการจดจำอดีตที่เลวร้าย ตรงกันข้ามถ้าเขาได้ดีมีสุข เขาก็อาจจะให้เราชื่นชมร่วมไปกับเขาด้วย ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดี ๆ นั้น เราก็อาจจะได้แค่ชื่นชมเป็นการเฉพาะในหมู่พวกเราที่ทำงานนี้ก็พอแล้ว เราจึงไม่มีการโพนทะนาว่ามูลนิธิได้ช่วยใคร หรือทำอะไรให้กับใครบ้าง เว้นแต่เขาเหล่านั้นจะเอาไปพูดกันเอง ด้วยจิตใจที่มี “กตเวทิตา” นั้น
ปัจจุบันครูจิตราก็ยังทำงานมูลนิธิอยู่อย่างเข้มแข็ง โดยเธอยังสนใจที่จะพูดถึงเรื่องลูกศิษย์หลาย ๆ คน “เป็นการส่วนตัว” ด้วยความสุขและภูมิใจอย่างยิ่งอยู่เสมอ