กรมศิลป์เชิญผู้เชี่ยวชาญอบรมภัณฑารักษ์ตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุศิลปะคันธาระ ป้องมรดกวัฒนธรรมโลก
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมามีผู้นำวัตถุเลียนแบบโบราณวัตถุสกุลช่างคันธาระ มาขอรับใบอนุญาตจากกรมศิลปากรเพื่อนำส่งออกนอกราชอาณาจักรไทยมากขึ้น ซึ่งสกุลช่างคันธาระนั้นเป็นผลงานการสร้างพุทธศิลปกรรมภายใต้ราชวงศ์กุษาณะเมื่อราว 1,900 ปีมาแล้ว บริเวณประเทศปากีสถานในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นสมัยแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูป จึงเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของโลก กรมศิลปากรเล็งเห็นถึงความสำคัญในการตรวจพิสูจน์ของภัณฑารักษ์ ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองมรดกของโลกนี้ได้ หากมีความแม่นยำในการตรวจพิสูจน์ และรู้เท่าทันสถานการณ์ลักลอบค้าโบราณวัตถุดังกล่าว จึงมอบหมายสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้
ทั้งกล่าวอีกว่า เพื่อให้ภัณฑารักษ์ผู้ปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องศิลปะคันธาระอย่างครอบคลุมในหลายมิติ โดยได้รับเกียรติจากนายฟารุก ชารีฟ อุปทูตที่ปรึกษาด้านการค้าและการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย มาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายด้านการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมของปากีสถาน Dr.E’tienne CLE’MENT ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลักลอบค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศของยูเนสโก บรรยายเรื่องสถานการณ์และนโยบายการควบคุมการลักลอบค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศ ดร.วรรณพร เรียนแจ้ง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีคันธาระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนกรมศุลกากร ร่วมบรรยายกับภัณฑารักษ์และนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สำหรับกิจกรรมนี้ กรมศิลปากรโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับภัณฑารักษ์ เพื่อตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุศิลปะคันธาระ ระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป และคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นับเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและปากีสถาน ที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 70 ปี สัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างรัฐบาลไทยและปากีสถาน