เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ หรือ RDPB Camp รุ่นที่ 12 ขึ้น โดยนำเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 80 คน ที่สมัครเข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนฯ เข้ามาเรียนรู้ การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พื้นที่นี้จะพาน้องๆ ไปร่วมเรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่นี่มีเรื่องราวมากมายที่จะให้น้องๆ ได้เรียนรู้ และค้นหามากมาย เริ่มต้นวันแรกหลังจากที่ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ต่างสถาบันกันแล้ว ก็มาทำความรู้จักสำนักงาน กปร. ว่ามีบทบาท ทำหน้าที่อะไรบ้าง สำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือเพื่อสนองพระราชดำริให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล โดยมีพันธกิจคือการรับเสด็จ และสนองพระราชดำริ สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนส่งเสริมการขับเคลื่อนขยายผล เป็นศูนย์ข้อมูลเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริต่างๆ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ แต่เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิดวิธี เช่นการทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สร้างขึ้นกีดขวางทางน้ำ และการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งการเกิดปัญหาอุทกภัย การขาดแคลนน้ำจืด รวมถึงการรุกตัวของน้ำทะเลที่เข้าไปในแม่น้ำปากพนังจนเกิดน้ำเค็ม ปัญหา 4 น้ำ 3 รส คือน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว และรสจืด รสเค็ม รสเปรี้ยว จึงตามมาระบบนิเวศเสียสมดุล ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่มีทั้งการทำนา การปลูกพืชผักไม้ผล รวมถึงการกระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้านที่ปลูกข้าว และชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยปัญหาที่เกิดขึ้น จึงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาถึง 13 ครั้ง เริ่มจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ฝายคลองไม้เสียบ และมาถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ทำหน้าที่กักน้ำจืด กันน้ำเค็ม ป้องกันน้ำท่วม บรรเทาน้ำแล้ง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับช่วงวันที่ 2 และ3 น้อง ๆ จะได้ร่วม Work shop เช่น การทำ Storytelling ในหัวข้อ เล่าเรื่องอย่างไรให้เข้าใจและเข้าถึง เทคนิคการผลิต Clip VDO ด้วยกล้องมือถือ การทำ Infographic และ Motion Graphic และช่วงวันที่ 4 ถึง 6 เป็นช่วงที่สนุก ตื่นเต้น คือการลงพื้นที่จากฐานการเรียนรู้ 8 ฐาน ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงการแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งน้อง ๆ ได้ลงมือปฏิบัติกัน อาทิ ฐานของในสวนอร่อยทุกอย่าง, เคาะปาก ลากปลา, ชิมน้ำ ชมนก @ ป่าจาก, และแห้วจูด กุ้งฝอย และหอยขม ซึ่งแต่ละฐานนอกจากจะได้ความสนุกที่ลงมือปฏิบัติแล้ว เหนืออื่นใดคือความรู้นอกห้องเรียนที่น้องๆ ได้รับจากประสบการณ์ตรงในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังได้เห็นกระบวนการของการทำหน้าที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส การส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานของฝายคลองไม้เสียบ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งให้แก่ราษฎรของพระองค์ อีกด้วย โอกาสนี้ ได้มีตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ นางสาวพัชรี มั่นเขียว จากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มีโอกาสมาร่วมเข้าค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้ว่า “สนุก ได้ความรู้หลาย ๆ อย่างโดยเฉพาะจากฐานเรียนรู้ และได้รู้จักเพื่อนหลายๆ คน ที่มาจากต่างพื้นที่ มาเจอกัน มาทำงานร่วมกัน ขอขอบคุณหน่วยงานที่จัดค่ายนี้ขึ้นมา รวมถึงการดูแลน้องๆ ตั้งแต่วันมาถึงวันกลับ” ด้าน นายเอกอนันต์ ภูศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “สิ่งแรกที่ผมรู้สึกประทับในค่ายนี้ก็คือ เพื่อน ๆ วิทยากร และพี่ ๆ ที่ดูแลเรา นอกจากจะได้รับความรู้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเราได้เรียนรู้โครงการที่สามารถพัฒนาประเทศชาติได้หลายอย่าง เราในฐานะเยาวชนก็ควรจะต่อยอด และรักษาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเรา นอกจากนี้ยังสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นภายในค่ายนี้ เพื่อนๆ ที่ช่วยเหลือกันทำ Work shop และ VDO ต่างๆ จากความรู้ที่วิทยากร มอบให้ สิ่งหนึ่งอยากฝากไว้คืออยากให้ทุกคนมาค่ายนี้ครับ” ทางด้าน นางสาสภาวิณี พลวงษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ กล่าวว่า "หลังจากที่ได้เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเก่งมาก คนๆ หนึ่งจะเรียนแล้วศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นระบบซึ่งในปัจจุบันกว่าจะผ่านมาได้ต้องยากมาก ๆ คือต้องศึกษาเยอะมากจึงรู้สึกว่าท่านเก่งจริง ๆ" สุดท้าย นายวิสณุ หวดสันเทียะ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ประทับใจหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทีม ฐานความรู้ต่าง ๆ ที่จะสร้างประสบการณ์ความรู้ให้มากขึ้น” และนายอนาวิล สุราฤทธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง “ความรู้สึกแรกคือทุกคนคือมาจากต่างที่ต่างถิ่นและได้มาทำกิจกรรมประมาณ 5 ถึง 6 วัน รู้สึกตัวเองเก่งขึ้น เช่นการตัดวีดิโอ หรือการทำอินโฟกราฟิก และการทำกิจต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนๆ จะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และพัฒนาต่อยอดต่อไปครับ” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากเสียงสะท้อนของน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพะราชดำริ RDPB Camp รุ่นที่ 12 สำหรับการจัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) สำนักงาน กปร. มุ่งหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้แนวพระราชดำริผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนได้เก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์จริง และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สถาบันการศึกษา และการทำงานในภายภาคหน้า รวมทั้งจะได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอดโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ สืบไป กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.