ทีมวิจัยคณะประมง ม.เกษตรฯ ค้นพบสาหร่ายสีแดงชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดพังงา ชี้วัดว่า “ทะเลอันดามัน” เป็น “แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ” ทีมวิจัยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาประมง และนายจักรพันธ์ บุหลัน (นิสิตปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์การประมง) ร่วมกับ ดร.จันทนา แสงแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และ Prof. Joe Zuccarello, Victoria University of Wellington, New Zealand ค้นพบสาหร่ายสีแดงชนิดใหม่ของโลก Gracilaria khanjanapajiae ที่บริเวณหาดนาใต้ จังหวัดพังงา และตั้งชื่อสาหร่ายชนิดใหม่นี้ว่า Gracilaria khanjanapajiae เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณกาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ อาจารย์อาวุโสคณะประมง ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านความหลากหลายของสาหร่ายในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก งานวิจัยนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 โดย ดร.จันทนา แสงแก้ว ได้สำรวจความหลากหลายของสาหร่ายทะเลบริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตและพังงา และพบตัวอย่างสาหร่าย Gracilaria หลายชนิด จึงได้ส่งตัวอย่างบางส่วนมาให้กับทีมวิจัยคณะประมงวิเคราะห์ชนิด ต่อมาในปี 2560 ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากคณะประมง ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างสาหร่าย Gracilaria เพิ่มเติม บริเวณจังหวัดภูเก็ตและพังงา หลังจากการวิเคราะห์ด้านสัณฐานวิทยาร่วมกับข้อมูลทางพันธุกรรมอย่างละเอียดแล้ว จึงเป็นที่มาของการค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก Gracilaria khanjanapajiae จากชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย สาหร่าย Gracilaria khanjanapajiae มีลักษณะที่แตกต่างจากสาหร่าย Gracilaria ชนิดอื่นๆ โดยมีลักษณะเป็นต้นแบน ขอบใบหยัก และมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ในแอ่งลึก (Verrucosa-type spermatangial conceptacle) นอกจากนี้ข้อมูลทางวงศ์วานวิวัฒนาการจากยีนในคลอโรพลาสต์ยังชี้ให้เห็นว่าสาหร่าย Gracilaria khanjanapajiae มีความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการค่อนข้างห่างจากสาหร่าย Gracilairia lantaensis และ Gracilaria coppejansii ที่เคยถูกค้นพบจากบริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทยก่อนหน้านี้ การค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับของการศึกษาสาหร่ายในชื่อ ‘Phycologia’ https://doi.org/10.1080/00318884.2022.2062189 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทีมวิจัยของ ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ ได้ค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลกในสกุล Gracilaria มาแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ Gracilairia lantaensis จากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และ Gracilaria coppejansii จากจังหวัดภูเก็ตและสตูล การค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงอยู่กับทะเลบริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และเป็นข้อมูลสนับสนุน “ทะเลอันดามัน” เป็น “แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ” ซึ่งได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา