ผู้นำภาคเอกชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก เปิดตัวการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตอกย้ำความยึดมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาค และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ดิจิทัล MSMEs ความยั่งยืน และเศรษฐกิจการเงิน เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของภูมิภาค APEC Business Advisory Council (ABAC) ประกอบด้วยสมาชิกหลักจำนวน 63 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (3 คนต่อหนึ่งเขตเศรษฐกิจ จาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก) โดยในทุกปี สมาชิกของ APEC Business Advisory Council จะรวมตัว ณ การประชุมของสภาฯ จำนวน 4 ครั้ง และงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือ และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 นี้ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ซึ่งผลักดันการจัดงานด้วยแนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE พร้อมเปิดรับโอกาสการกลับมาร่วมประชุมของผู้นำภาคเอกชนในสถานที่จริง (Onsite) เป็นปีแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยควรน้อมรับ เพราะเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพ จุดแข็ง และเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์ของประเทศ และการร่วมระดมความคิดเพื่อขยายขีดจำกัดของภูมิภาค ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางภาคธุรกิจของภูมิภาคและโลกที่สำคัญ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 เปิดเผยว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council:ABAC) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 63 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกที่จะมีการหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจ และความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อาทิ เหตุโรคระบาด และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของผู้คน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำที่สะท้อนความต้องการของผู้คนในภูมิภาคอย่างแท้จริงแล้วนำเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2565 "เป็นการกลับมาร่วมประชุมของผู้นำภาคเอกชนในสถานที่จริง (Onsite) เป็นปีแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยควรน้อมรับ เพราะเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพ จุดแข็ง และเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์ของประเทศ และการร่วมระดมความคิดเพื่อขยายขีดจำกัดของภูมิภาค ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางภาคธุรกิจของภูมิภาคและโลกที่สำคัญ" โดยการประชุม ABAC ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยอย่างเป็นทางการจะชูแนวคิด Embrace Engage Enable ต่อยอดโอกาสแห่งการกลับมาร่วมผนึกกำลังผลักดันความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตอกย้ำความยึดมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาค และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ 5 ด้านได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ดิจิทัล MSMEs ความยั่งยืน และเศรษฐกิจการเงิน เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของภูมิภาค ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการประชุม ABAC ไปแล้ว 2 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15-18 ก.พ.65 ที่ประเทศสิงคโปร์ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-28 เม.ย.65 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ส่วนการประชุมครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 26-29 ก.ค.65 ที่ประเทศเวียดนาม และการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้นในวันที่ 13-16 พ.ย.65 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย นอกจากนี้ประเทศไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.65 อีกด้วย ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มเอเปคคือ การนำประเด็นทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ เช่น การนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาใช้ตอบโต้กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้การประชุมที่แคนาดาเมื่อปลายเดือน เม.ย.65 ไม่อนุญาตให้ผู้แทนของประเทศรัสเซียเข้าร่วมประชุมด้วย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า ไทยเคยเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit เมื่อปี 2546 และในปีนี้จะมีขึ้นอีกครั้งที่ประเทศไทย โดยเป็นการจัดงานแบบ onsite ครั้งแรกหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับผู้นำด้านธุรกิจ วิทยากรชั้นนำของโลก และซีอีโอ 1,500-2,000 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โปรแกรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.65 จะประกอบด้วย การอภิปราย การนำเสนอ และการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยการดำเนินงานของ ABAC ได้แบ่งเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration), การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital), การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด (MSMEs and Inclusiveness), ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และระบบการเงินที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นและสภาพแวดล้อมตอบโจทย์ (Finance & Economics) สำหรับผลประชุมครั้งล่าสุดที่ประเทศแคนาดา ตัวแทนภาคเอกชนได้เตรียมคำแนะนำ 8 ประการเสนอต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะเพื่อกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (1) การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต (2) การตระหนักถึงการวางแนวทางเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP (3) สนับสนุนองค์การการค้าโลก และระบบการค้าแบบพหุภาคี (4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าบริการ (5) การเปิดด่านชายแดนอีกครั้งด้วยการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น และข้อเสนอแนะเพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่หยุดนิ่ง และครอบคลุม (6) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผ่านมาตรการทางการค้าและเศรษฐกิจ (7) การพัฒนาธรรมาภิบาลด้านดิจิทัลให้สูงขึ้น และ (8) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ โดยคำแนะนำที่มีความเร่งด่วนสูงสุดมี 3 ประการ คือ ด้านความมั่นคงด้านอาหาร ด้านดิจิทัล และด้านการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) "ความท้าทายต่างๆ ในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และความจำเป็นที่เราจะต้องเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และมีระบบอาหารที่ยั่งยืน มีผลิตภาพ และโปร่งใสมีสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พลังงานและอาหารมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายพจน์ กล่าว นายกอบศักดิ์ ดวงดี ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคที่จะหมุนเวียนและเติบโตได้อย่างก้าวหน้าก็ต่อเมื่อมีการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซที่ไหลลื่น มีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ บริหารจัดการได้จากทุกที่ และใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเอเปคจำเป็นต้องผลักดันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Data infrastructure) นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้แทนสำรองสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า FTAAP เป็นสิ่งที่ ABACl ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ APEC Putrajaya Vision 2040 ในการนี้ ABAC มีความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมระบบการค้าแบบเปิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนและครอบคลุมมาสู่ทุกเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงจะช่วยเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในภูมิภาคเอเปคต่อไป