วันที่ 12 พ.ค.65รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 552,113 คน ตายเพิ่ม 1,441 คน รวมแล้วติดไปรวม 518,980,114 คน เสียชีวิตรวม 6,281,875 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 67.64 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 63.91
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 30.27 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.67
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ถึงแม้ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 28.42% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...อัพเดตงานวิจัยโควิด-19
1. การศึกษาจากประเทศจีนโดย Huang L และคณะพบว่า คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล มีอาการคงค้าง Long COVID อย่างน้อย 1 อาการ มากถึง 55% แม้ติดตามยาวมาถึง 2 ปี
2. งานวิจัยโดย Prasanan N และคณะ จาก UCL สหราชอาณาจักร พบว่ากลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วมีอาการคงค้าง Long COVID จะตรวจพบว่ามีความผิดปกติของสารเคมีในเลือดที่อาจนำไปสู่การแข็งตัวของเลือดได้ง่าย
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID ในการศึกษานั้น มีถึง 1/3 ที่ตรวจพบว่ามีอัตราส่วนของสาร Von Willebrand Factor (VWF) Antigen (Ag):ADAMTS13 สูงขึ้นกว่า 1.5 เท่า
นอกจากนี้หากเจาะลึกในกลุ่มที่เป็น Long COVID และมีสมรรถนะในการออกกำลังกายที่จำกัด (impaired exercise capacity) จะตรวจพบความผิดปกติข้างต้นได้ถึง 55% และมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาสมรรถนะในการออกกำลังกาย ถึง 4 เท่า
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหา Long COVID ว่าอาจสัมพันธ์กับเรื่องความผิดปกติระยะยาวในระบบเลือดและหลอดเลือดขนาดเล็ก ที่เกิดหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19
3. การศึกษาโดย Alghamdi HY และคณะจากประเทศซาอุดิอาราเบีย พบว่ากลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว จะเกิดปัญหา Long COVID ที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท และปัญหาจิตเวชได้
เกิดได้ตั้งแต่ปัญหาด้านความคิดความจำที่ถดถอยลง ปัญหาด้านการนอนหลับ ซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ ไปจนถึงการสูญเสียสมรรถนะการรับรสหรือดมกลิ่น โดยจากการสำรวจพบว่ามีผู้ที่ประสบอาการต่างๆ ตั้งแต่ 18.9-63.9%
ทั้งนี้ความผิดปกติทางอารมณ์ (mood alteration) ที่คงอยู่ยาวนานกว่า 6 เดือนนั้นพบได้สูงถึง 7.6%
...สำหรับไทยเรา
ผลลัพธ์ในด้านการควบคุมป้องกันโรคระบาดนั้นสะท้อนให้เห็นได้ทั้งในเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวัน จำนวนเสียชีวิตแต่ละวัน ซึ่งยังติดอันดับ Top 10 ของโลก
การใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง ป้องกันตัวเสมอ ทั้งการทำงาน ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน
การใส่หน้ากากนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นด่านสุดท้ายที่จัดการตนเองได้ ใส่หน้ากากควรปิดปากปิดจมูก ไม่ใช่ใส่ๆ หลุดๆ
การใส่แล้วพูด หากหน้ากากหลุดลงมา แปลว่าหน้ากากนั้นไม่เหมาะ ต้องปรับเปลี่ยนชนิดหน้ากาก หรือวิธีการใส่
และหน้ากากอนามัยที่ใช้ควรแนบชิดกับใบหน้า ถ้ามีร่องข้างแก้มข้างจมูก ควรกดให้แนบชิด หรือใส่หน้ากากผ้าทับด้านนอกเพื่อช่วยกดหน้ากากอนามัยด้านในให้แนบกับใบหน้ายิ่งขึ้น
อ้างอิง
1. Huang L et al. Health outcomes in people 2 years after surviving hospitalisation with COVID-19: a longitudinal cohort study. The Lancet Respiratory Medicine. 11 May 2022.
2. Prasannan N et al. Impaired exercise capacity in post-COVID syndrome: the role of VWF-ADAMTS13 axis. Blood Advances. 11 May 2022.
3. Alghamdi HY et al. Neuropsychiatric symptoms in post COVID-19 long haulers. Acta Neuropsychiatr. 11 May 2022.