กรมศิลป์ส่งเกม Siamese: Puzzle Heritage คว้าที่ 5 ของโลก รูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณสถานในพื้นที่มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา
11 พ.ค. 65 ที่กรมศิลปากร จัดแถลงข่าวผลงานรางวัล Cultural Heritage Game Siamese โดย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรได้ส่งผลงานเกม Siamese:Puzzle Heritage Game ผลงานการดำเนินงานโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มรดกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเกมการต่อ Puzzle รูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณสถานในพื้นที่มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมประกวด ในงาน Global Game Jam® (GGJ) ภายใต้หัวข้อ The Cultural Heritage Game Jam งานผลิตเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดโดย Global Game Jam® (GGJ) องค์กรสากลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในเมืองซานหลุยส์ โอบิสโป รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า เกมSiamese: Puzzle Heritage ของกรมศิลปากรสามารถคว้ารางวัลที่ 5 จากการประกวดครั้งนี้ โดยมีทั้งหมด 116 เกมทั่วโลกเข้าร่วมการประกวด
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นับเป็นมิติใหม่ของการดำเนินงานของกรมศิลปากรที่สร้างสรรค์เกม ที่แสดงถึงผลงานการขับเคลื่อน soft power ด้านวัฒนธรรม ที่มีความโดดเด่น ผสมผสานระหว่างงานสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลกับงานมรดกวัฒนธรรมอย่างลงตัว โดยใช้เกมเพิ่มช่องทางที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักแหล่งโบราณสถานของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลมรดกวัฒนธรรม อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มากขึ้น และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ ดึงดูดคนทั่วโลกเข้ามาเที่ยวชมมรดกทางวัฒนธรรมของไทย โดยขณะนี้ ได้เปิดให้ผู้สนใจร่วมเล่นเกม Siamese: Puzzle Heritage Game การต่อรูปแบบสันนิษฐานโบราณสถานของกรมศิลปากร ผ่านการดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Siam Puzzle Heritage ได้ทั้งระบบ Android และ iOS แล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการสร้างสรรค์ และพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านเกมกรมศิลปากร จึงร่วมกับผู้สนับสนุนภาคสถาบันการศึกษาจัดการแข่งขัน FIT Game Jam (Fine Arts Game Jam) จัดการแข่งขันสร้างสรรค์เกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมจากโจทย์ของกรมศิลปากร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย หลักสูตรดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ และสาขาการพัฒนาสื่อผสมและเกม มาแสดงความสามารถ เข้าแข่งขันจำนวน 12 ทีม แบ่งเป็นทีมละ 5 คน คิดค้นสร้างเกมมรดกทางวัฒนธรรม ชิงเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร จากกรมศิลปากร โดยสมัครและดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร www.finearts.go.th , เฟสบุ๊ก และช่อง YouTube ของกรมศิลปากร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป