เมื่อตรวจพบผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และผู้ป่วยได้รับการประเมิน พบว่าไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ จะให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) เมื่อเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อ ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ติดตามอาการ ย้ำ!!กทม.มีศักยภาพรองรับได้ทั้งเตียง ยา และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอในการรักษาและดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือโรคโควิด 19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.65 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมมาตรการ เพื่อรองรับการดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น โดยดำเนินการตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และผู้ป่วยได้รับการประเมิน พบว่าไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ จะให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (รพ.) เมื่อเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อ และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามและติดตามอาการผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของบุคลากร ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค พร้อมทั้งรณรงค์ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และวางแผนการปรับ รพ.ให้มี Long COVID clinic/unit เพื่อติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลังรักษาหาย ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ติดตามอาการ และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมความพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมจากระบบปกติ เพื่อรองรับกรณียังเข้าระบบ HI หรือ CI ไม่ได้ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย จ่ายยาตามระดับอาการ และให้คำแนะนำการกลับไปแยกกักรักษาที่บ้าน หากมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณจะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับความรุนแรงต่อไป นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเกณฑ์ ทั้งเรื่องอัตราการฉีดวัคซีน อัตราการป่วย อัตราการตาย เพื่อให้มั่นใจหากเชื้อโควิด 19 มีการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หรือรุนแรงขึ้น กทม.จะมีศักยภาพรองรับได้ทั้งเตียง ยา และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอในการรักษาและดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน นอกจากนั้น ยังได้ทบทวนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวในการดำเนินชีวิตและทำให้การเปลี่ยนผ่านโควิด 19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเป็นไปอย่างราบรื่น