วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 ลงพื้นที่เขตราชเทวี พร้อมด้วยนางผุสดี วงศ์กำแหง ผู้สมัคร ส.ก. เขตราชเทวี หมายเลข 6 เพื่อเดินขอเสียงสนับสนุนบริเวณตลาดโยธี และขณะเดินขอเสียงจากพ่อค้าแม่ค้าและพี่น้องประชาชนอยู่ ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดย “เอ้ สุชัชวีร์” ได้กล่าวถึงปัญหาที่ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องแก้ ที่มาพร้อมกับฤดูฝนคือเรื่องน้ำท่วมซ้ำซากว่า หากตนเป็นผู้ว่าฯ จะไปบัญชาการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง พร้อมกับบอกอีกว่ากรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองปั๊ม เพราะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ต้องปั้มโยนให้สูงขึ้นเพื่อส่งน้ำออกไปแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นจะต้องไปดูระบบปั๊มในกรุงเทพฯ ว่าต้องทำงานได้เป็นอันดับแรก ถัดไปต้องเปลี่ยนปั๊มดีเซลให้เป็นปั๊มไฟฟ้าทันที เพราะปั๊มดีเซลต้องเสียค่าซ่อมบำรุงเยอะ ค่าน้ำมันก็แพง ส่วนปั๊มไฟฟ้านั้นดีและมีราคาถูก สามารถตั้งเป็นระบบอัตโนมัติให้ทำงานสอดประสานกับประตูระบายน้ำได้เลย ซึ่งจะทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบัน กทม. มีวอเตอร์แบงก์ หรือแก้มลิง รวมถึงการขุดลอกท่อแล้วนั้นเพียงพอหรือไม่ “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า ไม่พอหรอก การขุดลอกท่อเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ จะเป็นผู้กำชับให้ทำ แต่การทำแบบเดิม คิดแบบเก่า ถ้ามันแก้ได้ ปัญหานี้ก็ควรได้รับการแก้ไขไปได้นานแล้ว ซึ่งกรุงเทพฯ ต้องได้รับการ “รี-เอนจิเนียริ่ง” ต้องปรับด้านวิศวกรรม ด้วยวิศวกรระดับวุฒิที่มีประสบการณ์ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองปั๊ม เหมือนปั๊มหัวใจ ถ้าปั๊มไม่ทำงานกรุงเทพฯ ก็ตาย วันนี้ปั๊มยังทำงานไม่สอดประสานกัน ยังต้องรอคนอยู่เลย มันไม่ทันฝน มันต้องเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติเช่นเดียวกับประตูระบายน้ำ ให้ปั๊มทำงานประสานกับประตูระบายน้ำด้วยคอมพิวเตอร์ ผมตั้งใจว่าจะต้อง รี-เอนจิเนียริ่ง กรุงเทพฯ ต้องปรับทางด้านวิศวกรรมใหม่ ไม่อย่างนั้นคนกรุงเทพฯ เดือดร้อนแน่” สำหรับนโยบายในเรื่องการ “แก้น้ำท่วม น้ำเน่า น้ำหนุน ซ้ำซาก” ของ “เอ้ สุชัชวีร์” หมายเลข 4 นั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกกรุงเทพฯ เป็นเมืองปั๊ม ถ้าปั๊มไม่ทำงานก็ท่วมแบบดินแดง จตุจักร ดังนั้นปั๊มทุกตัวต้องเป็นปั๊มอัตโนมัติ เมื่อฝนตกปั๊มต้อง “ฉึ่ง” ทำงานสอดประสานกับประตูระบายน้ำทันที และจะไปลงพื้นที่กำกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ระยะที่ 2 ในบางพื้นที่แม้จะมีปั๊มแต่เอาไม่อยู่ เหลือน้ำรอระบาย อย่างจตุจักร สุขุมวิท รามคำแหง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ จึงต้องแก้ไขด้วยการให้น้ำลงไปรอไว้ใต้ดิน ด้วยการมีแก้มลิงใต้ดินที่มีลักษณะเหมือนบ่อพักน้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ที่วันนี้เริ่มดำเนินการอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตป้อมปราบฯ เขตพระนคร เรื่องนี้เอกชนลงมือทำแล้วรอแต่ กทม. ขยับ ดังนั้นก็ตั้งใจจะทำที่จตุจักรเป็นที่แรก ตามด้วยสุขุมวิท และรามคำแหง เพื่อให้น้ำที่เหลือไม่ต้องรอระบายที่ถนน ที่ซอย แต่ไหลตามแรงโน้มถ่วงลงไปรอที่ใต้ดิน เมื่อฝนหยุดตกก็ค่อยสูบน้ำเพื่อระบายไปตามระบบต่อไป ส่วนระยะยาวนั้น ปัญหาน้ำทะเลหนุนเป็นเรื่องที่เป็นห่วงอย่างมาก เพราะเป็นของจริง และทำให้กรุงเทพฯ จมทะเลได้ ดังนั้นจะขอเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่เริ่มโครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้เวลาเป็น 10-20 ปี หากไม่เริ่มวันนี้ อีก 10 ปีจะสายเกินไป “เรื่องน้ำทะเลหนุน มีแค่เขื่อนก็ช่วยไม่ได้ เพราะน้ำสูงขึ้น ให้ดูที่โอเรียลเต็ลเขาก็มีเขื่อนแต่ก็ยังมีน้ำทะลัก และเขื่อนก็ไม่พอ ต้องขอบคุณคนอยุธยาที่ยอมทุกข์แทนคนกรุงเทพฯ ถึง 2 เดือน ถ้าคนอยุธยาปล่อยน้ำลงมาแล้ว กทม. มาเจอน้ำทะเลหนุนตอนปลายปี เขื่อนก็เอาไม่อยู่ แบบนี้ไม่ได้ มันต้องป้องกันที่ต้นทาง ที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เช่นนั้น กทม. ก็ต้องผลักภาระให้อยุธยา หรือปทุมธานี เพื่อรองรับน้ำก่อนที่จะปล่อยมาแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้เราต้องทำแล้ว จะปล่อยให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม น้ำหนุน น้ำบ่า ไม่ได้แล้ว” “เอ้ สุชัชวีร์” ยังกล่าวถึงในบางพื้นที่ใน กทม. ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ อย่างเขตหนองจอก ว่า คนเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องประสานให้ทุกที่ใน กทม. มีน้ำประปาใช้ และตนก็มีนโยบายให้ฟุตบาททางเดินจะต้องมีก็อกน้ำประปาสะอาดไว้บริการทุกพื้นที่ เพราะพี่น้องประชาชนต้องล้างมือ และพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องได้ใช้น้ำสะอาดได้ด้วย “กรุงเทพฯ ตอนนี้ฝนตกแป๊บเดียวน้ำก็ท่วม ฝนของโลกวันนี้จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า แฟลช (Flash) เพราะจู่โจมเร็วและแรง แค่ 15-30 นาที แต่น่ากลัวที่สุด หากระบบปั๊ม และประตูระบายน้ำไม่ทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ ชั่วเวลา 15 นาที จะมีใครเปิด-ปิดทัน ถ้ากรุงเทพฯ ยังใช้คนไขกุญแจอยู่ก็ไม่ได้แล้ว อะไรที่คอมพิวเตอร์ทำได้ดีก็ต้องทำแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำช่วงฝนตกหนักช่วงสั้นๆ แต่รุนแรง เราเสียโอกาสไปมากแล้ว ผมอยากทำจริงๆ ขอคะแนนเสียงจากทุกท่านในช่วงโค้งสุดท้ายให้ผมได้มีโอกาสได้ทำงานที่ผมถนัดด้วย"