วันที่ 11 พ.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
ทะลุ 518 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 582,596 คน ตายเพิ่ม 1,645 คน รวมแล้วติดไปรวม 518,307,958 คน เสียชีวิตรวม 6,279,862 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เยอรมัน ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 61.27
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 27.73 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.37
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ถึงแม้ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 24.09% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...เปรียบเทียบแนวโน้มการเสียชีวิตของทั่วโลก
หากดูจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคนของประเทศไทย
จะพบว่าแม้จะปรับการรายงานเฉพาะ Death from COVID-19 มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ไทยยังมีอัตราส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
หากลองเปรียบเทียบกลุ่มประเทศจำแนกระดับรายได้ จะพบว่าไทยยังมีจำนวนเสียชีวิตต่อประชากรล้านคนพอๆกับกลุ่มประเทศรายได้สูง แต่มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ทั้งที่เราอยู่ในกลุ่มประเทศนี้
สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ก็มีลักษณะเดียวกัน
...สถานะการฉีดวัคซีนในคนไทย
จนถึง 10 พฤษภาคม 2565 มีคนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้ว 38.4%
ในขณะที่เด็กๆ อายุ 5-11 ปี ได้วัคซีนเข็มแรกไป 54.5% และได้ครบสองเข็มไป 17.7%
จะเห็นว่าสัดส่วนของประชากรที่ได้เข็มกระตุ้น และเด็กๆ ยังได้วัคซีนกันน้อย
การเปิดเรียนในสัปดาห์หน้า คุณครู และผู้ปกครอง จึงควรช่วยกันเน้นมาตรการป้องกันการติดเชื้อให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ เปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ลดจำนวนหรือจำกัดระยะเวลากิจกรรมรวมกลุ่มเท่าที่จำเป็น และหมั่นตรวจหรือสอบถามอาการไม่สบายของบุคลากรและเด็กๆ
โควิด ไม่จบที่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และมีโอกาสเป็น Long COVID ระยะยาว
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด...