วันที่ 10 พ.ค 65 เวลา 13.30 น.ห้องประชุมสุดสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 4/2565 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นพ.สสจ.ชลบุรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีอาการหนักซึ่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็ม อาจจะยังไม่เพียงพอต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยผลจากการศึกษาของกรมควบคุมโรค ระบุว่าการฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ 31 เท่า ส่วนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น เกณฑ์สำคัญคืออัตราป่วยตายต้องน้อยกว่า 0.1% รายสัปดาห์ ซึ่งจังหวัดชลบุรีผ่านเกณฑ์ในข้อนี้ โดยมีอัตราการป่วยตามอยู่ที่ 0.033 % ส่วนอีกเกณฑ์สำคัญคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร โดยต้องฉีดเข็มกระตุ้นได้ 60% ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา ซึ่งขณะนี้ระดมฉีดไปได้ 50% แล้ว ซึ่งอีก 10 % ต้องเร่งระดมฉีดให้ครบตามเกณฑ์ และปัจจุบันนี้จังหวัดชลบุรีได้รับการสนับสนุนวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอ จึงอยากเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถติดต่อขอรับวัคซีนโควิดได้ในสถานพยาบาลของภาครัฐ โดยสามารถติดตามได้ผ่านทางเพจของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี
ในส่วนของการเปิดเรียน On Site ของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น มีความพร้อมในการเปิดเรียน 100% โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมเปิดเรียน ภายใต้ 5 มาตรการ ประกอบด้วย การประเมินตนเองของโรงเรียนผ่าน TSC Plus การสร้างความรู้ให้แก่ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากร เพิ่มมาตรการเข้ารับวัคซีนทั้งผู้ปกครองและนักเรียนโดยเฉพาะ booster dose รวมถึงเตรียมทีมกำกับติดตามและเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุกรณีมีการติดเชื้อในสถานศึกษา
นอกจากนี้แล้วยังมีการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายกิจการตู้ร้องเพลงแบบหยอดเหรียญให้สามารถเปิดบริการได้ ประกอบกับขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศลดระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์จากระดับ 4 เป็น 3 โดยผู้ว่าฯ ย้ำมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่ประชาชนยังคงต้องเคร่งครัดตามมาตรการ VUCA การฉีดวัคซีนยังคงเป็นปัจจัยหลัก ประชาชนต้องรู้จักมาตรการป้องกันตนเอง หากมีการติดเชื้อต้องมีการแยกกักเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด และเตรียมความพร้อมให้เป็นไปตามเกณฑ์เข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป