ปัจจุบันกระแสข่าวเกี่ยวกับการทุจริตในสหกรณ์ปรากฏในสื่อสารมวลชน มีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เกิดกรณีการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่คู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อของกระบวนการสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง บทบาทของข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการศึกษาข้อมูลดังกล่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ การรับชมข่าวสารจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ และในระบบ YOU TUBE ที่มีการวิเคราะห์กรณีดังกล่าว และถอดเป็นบทเรียนแก่สหกรณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กับสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่ที่นักส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบ ซึ่งตามทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่ง ย่อมกระทบถึงเหตุการณ์ในพื้นที่อื่นด้วย กรณีดังกล่าวย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บทความนี้ จะนำเสนอในประเด็นทำอย่างไรจึงจะยกเครื่องสหกรณ์ไทยในประเด็นเกี่ยวกับ การนำเทคโนโลยีระบบอินเตอร์เน็ต และระบบ Applications มาเป็นเครื่องมือในการยกเครื่องสหกรณ์ไทย โดยเฉพาะสหกรณ์ที่มีการรับฝากเงินจากสมาชิกเป็นจำนวนมาก และมีการดำเนินการให้เงินกู้แก่สมาชิก ในจำนวนเงินที่สูงเช่นกัน ซึ่งนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เร่งรัดให้สหกรณ์ที่มีความพร้อม และมียอดเงินรับฝากที่สูง และให้เงินกู้จำนวนเงินมากวางระบบดังกล่าว เพื่อยกเครื่องสหกรณ์ไทย นับว่าเป็นมาตรการที่สร้างระบบให้ตอบสนอง และถอดบทเรียนจากกรณีข้างต้นได้เป็นอย่างดี ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ความเสี่ยงของการทุจริตในสหกรณ์ เริ่มจาก สนิมเหล็กย่อมเกิดจากเนื้อในเหล็ก หรือ ให้แมวเฝ้าปลาย่าง แมวมักจะอดใจไม่ไหว กินปลาย่างเสียเอง โดยการปลอมแปลงลายมือชื่อถอนเงินฝากของสมาชิก และนำเงินสดออกไป เป็นการใช้หลักฐานเท็จ แต่มีการนำเงินออกไปจริง และลงบัญชีถูกต้อง ซึ่งมีช่องว่างของระบบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันระบบบัญชีในสหกรณ์มีการใช้เป็นระบบโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทำบัญชีในการบันทึกบัญชี และให้มีผู้ควบคุมกรณีมีการแก้ไขต้องใช้รหัสผ่านที่มอบให้ผู้มีอำนาจเข้าแก้ไข และเข้าถึงชั้นความลับของสหกรณ์ ในลักษณะของผู้ควบคุมระบบ โดยผู้ควบคุมระบบคือ ผู้จัดการของสหกรณ์ ลักษณะเป็นระบบปิด สมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถทราบการเคลื่อนไหวทางบัญชีของตนเองได้ ต้องเข้าไปตรวจสอบด้วยตนเอง ณ สำนักงานสหกรณ์ สมาชิกที่ไม่ได้สนใจความเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก หรือให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ฝากสมุดออมทรัพย์ไว้กับเจ้าหน้าที่ เป็นช่องทางหนึ่งที่เอื้อให้มีการขโมยถอนเงินจากสมาชิกรายนั้นได้ นับเป็นความเสี่ยงในการสูญเสียเงินออกจากบัญชี โดยเจ้าของบัญชีไม่อาจทราบได้ นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในระบบสหกรณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกสหกรณ์จะเป็นแบบนี้ทุกแห่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของบุคคลผู้เกี่ยวข้องนั้นด้วย สหกรณ์ในภาพรวมส่วนใหญ่ยังมีความน่าเชื่อถืออยู่ และมีกลไกการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน และฝ่ายจัดการสหกรณ์ยังมีจริยธรรม คุณธรรม และรักห่วงใยในความอยู่รอดของสหกรณ์แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวจะกระทบในสังคมวงกว้าง แนวทางการแก้ไขซึ่งเป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า พิษงู ย่อมรักษาด้วยเซรุ่มจากพิษงู เหมือนหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบอินเตอร์เน็ต และระบบ Applications ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยอมรับว่ามีความก้าวหน้าในระดับที่สูงมาก ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้ โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องมีความตระหนักในปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะสหกรณ์ภาคออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์ภาคการเกษตรหลายสหกรณ์ในต่างจังหวัด มีเงินรับฝากยอดเงินฝาก 100 -1,000 ล้านบาท และมีการให้เงินกู้ยอดรวมถึง 100-1,000 ล้านบาท เป็นจำนวนที่มากเช่นกัน เป็นที่น่าชื่นชมว่ามีหลายสหกรณ์ที่ดำเนินการให้มีระบบที่สมาชิกเข้าถึงในการตรวจสอบตนเองได้บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ และมีสหกรณ์จำนวนมากกว่าที่ยังไม่ได้ดำเนินการ สันนิษฐานว่ามีความคิดจะดำเนินการแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ต้องเริ่มที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดต้องคิดว่า การตัดสินใจลงทุนในการสร้างความน่าเชื่อของระบบสหกรณ์ โดยใช้วิธีการออกแบบ Website ของสหกรณ์ให้มีไอคอลที่สมาชิกเข้าตรวจสอบข้อมูลความคงเหลือของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ และฐานข้อมูลหลักประกัน ตลอดจนข้อมูลอื่นที่จำเป็น เป็นสิ่งจำเป็นในสหกรณ์ และไม่ควรอ้างว่า สมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถทำได้ ในเมื่อยังไม่ได้ทดลองทำ หลายสหกรณ์ลงทุนสร้างสำนักงานของตนเองในราคาหลายสิบล้านบาท แต่เมื่อแนะนำให้มีระบบ Website ของสหกรณ์ให้มีไอคอล และมี Applications ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สมาชิกเข้าตรวจสอบข้อมูลความคงเหลือของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ และฐานข้อมูลหลักประกัน กลับอ้างว่ามีราคาแพง ซึ่งสหกรณ์อ้างแบบนี้ นับว่าเป็นองค์กรที่มีข้อน่าสงสัยในการดำเนินงานหรืออาจจะคิดว่าไม่คุ้มค่าในการในการลงทุน? คณะกรรมการสหกรณ์ต้องรับเป็นหน้าที่ในการบริหารให้มีความโปร่งใส ในการทำข้อมูลสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน และให้สมาชิกเข้าตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการสหกรณ์ตามหลักธรรมาภิบาลจะเป็นรากฐานของการสร้างความน่าเชื่อในสหกรณ์ จังหวัดตรังมี 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตรัง จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตรัง จำกัด ได้จัดให้มีระบบสมาชิกออนไลน์ (Coop Online) สมาชิกสหกรณ์สามารถ Login ผ่านเว็บไซต์สหกรณ์ แอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile App) เพื่อดูข้อมูลสมาชิกภาพ ข้อมูลหุ้นข้อมูลเงินฝากเหมือนธนาคาร ข้อมูลเงินกู้ ข้อมูลผู้ค้ำประกัน ข้อมูลสิทธิกู้ ข้อมูลเรียกเก็บ ข้อมูลปันผล ข้อมูลสวัสดิการ และข้อมูลสวัสดิการครอบครัวสมาชิก พิมพ์ใบเสร็จ ระบบส่งข้อความถึงสมาชิก ดังนั้น ถึงเวลาแล้วต้องสร้างระบบตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางบัญชีของสมาชิกให้มีมาตรฐาน และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยกเครื่องสหกรณ์ไทย ทำอย่างไรให้สมาชิกสหกรณ์เข้าถึงข้อมูลของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบอินเตอร์เน็ต และระบบ Applications ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือสหกรณ์ไทยอีกหลายสหกรณ์ยังคงจะเป็นสหกรณ์หลงยุค? การลงทุนในการสร้างความน่าเชื่อถือ นับว่าคุ้มกับเม็ดเงินที่ลงไป ผู้นำสหกรณ์ต้องมีจิตสำนึกในการสร้างความโปร่งใส ใครหรือคณะใดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้? หรือต้องให้รัฐออกกติกาบังคับ? นับเป็นความท้าทายใหม่ของการยกเครื่องสหกรณ์ไทย เพื่อก้าวสู่ยุคต่อไป