วันที่ 9 พ.ค.65 ที่สำนักงานคดีพิเศษ นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ และนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ร่วมกันเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ศาลอาญาตลิ่งชันได้มีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ของชาย สัญชาติแคนาดา กับพวก เจ้าของเว็บไซต์ตลาดมืดอัลฟ่าเบย์ตามคำร้องขอของพนักงานอัยการ โดยทรัพย์สินที่ริบในคดีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 413 ล้านบาท ปรากฏรายละเอียดทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบรถยนต์แลมโบกินี่ อเวนทาดอร์ มูลค่าประมาณ 45 ล้านบาท,รถยนต์ปอร์เช่ พานาเมอรา มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท,รถยนต์มินิ คูเปอร์ มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท,รถจักรยานยนต์ (บิ๊กไบค์) บีเอมดับเบิ้ลยู มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท,บ้านเดี่ยว ย่านปิ่นเกล้า-เพชรเกษม มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท, บ้านเดี่ยว ย่านพุทธมณฑลสาย 3 มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท,บ้านพักตากอากาศ จังหวัดภูเก็ต มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท,เงินในบัญชีเงินฝากจำนวน 8 บัญชี รวม 46 ล้านบาท และเงินสกุลดิจิตอลจำนวน 911 บิตคอยน์ (มูลค่าประมาณ 1,244,000,000 บาท) รวมทรัพย์สินที่ริบในคดีนี้มีมูลค่ากว่า 1,657,000,000 บาท คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ทางการสหรัฐอเมริกาเคยมีคำร้องขอมายังอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดดำเนินการจับกุมตัวชาย ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บตลาดมืด (darknet) “อัลฟ่าเบย์ (AlplaBay)” ตามหมายจับของศาลเขตตะวันออกแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งหมด 16 ข้อหา เช่น สมคบกันเพื่อจำหน่ายยาเสพติด สมคบกันเพื่อมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม สมคบกันเพื่อกระทำการฟอกเงิน โดยตามการสืบสวนของทางการสหรัฐอเมริกาทราบว่า เจ้าของเว็บไซต์ตลาดมืดอัลฟ่าเบย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเว็บตลาดมืดผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น พักอาศัยและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเว็บตลาดมืดอัลฟ่าเบย์ มีการจำหน่ายทั้งยาเสพติด อาวุธเถื่อน มัลแวร์ ข้อมูลทางการเงินที่ถูกโจรกรรมมา และสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ ไปยังทั่วโลก โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา เว็บตลาดมืดอัลฟ่าเบย์ถูกออกแบบมาให้ปกปิดตัวตนและที่อยู่คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ และการซื้อขายจะใช้เงินดิจิตอลเท่านั้นเพื่อไม่ให้ปรากฏหลักฐาน อัยการสูงสุดพิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้วเห็นว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะดำเนินการให้ได้ตามที่ทางการสหรัฐอเมริการ้องขอ จึงมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการขอหมายจับจากศาลอาญา และส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามหมายจับ พร้อมขอให้ยึดทรัพย์สิน ขณะเข้าจับกุมเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดี ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้จับกุมตัว พร้อมยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ตามรายการข้างต้น และเงินดิจิตอลจำนวน 911 บิตคอยน์ นำส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เพื่อดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างควบคุมตัวในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ผู้ต้องหาได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในห้องควบคุมของเจ้าหน้าที่ คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงยุติลง นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวอีกว่า หลังจากคดีส่งผู้ร้าย ข้ามแดนยุติลง สำนักงานอัยการเขตตะวันออก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ดำเนินการต่อในคดีริบทรัพย์สิน ที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น ไซปรัส ลิกเตนสไตน์ แอนติกัวและบาร์บิวดา และประเทศไทย จนศาลเขตตะวันออกแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ทางการสหรัฐอเมริกาได้ส่งคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวมายังอัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลางพิจารณาดำเนินการตามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2529 อัยการสูงสุดผู้ประสานงานกลาพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องขอของทางการสหรัฐอเมริกาเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 และสนธิสัญญาจึงมอบหมายให้นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และนายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาตลิ่งชันขณะนั้น โดยมีนายบุญญวุฒิ บุญญาธิการ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานต่างประเทศ และนายวรพงษ์ นทีทิพย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน ร่วมมือกันรับผิดชอบสืบพยานไต่สวนคดี จนศาลอาญาตลิ่งชันมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินดังกล่าว คดีนี้ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ขั้นตอนการดำเนินการต่อไป สำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการทรัพย์สิน ขายทอดตลาดตามระเบียบขั้นตอน และรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเจรจาแบ่งปันกับทางกานสหรัฐอเมริกา สำหรับเงินดิจิตอลสกุลบิทคอยน์ที่อยู่ในความครอบครองของทางการสหรัฐอเมริกา สำนักงานอัยการสูงสุดจะดำเนินการขอให้คืนและเจรจาแบ่งปันกันตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 และสนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาต่อไป การดำเนินคดีนี้ที่ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ถือเป็นแนวทางและบรรทัดฐานในการดำเนินคดียึดอายัดและริบทรัพย์สินตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังพิจารณาดำเนินการอีกหลายคดี รวมทั้งคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดร้องขอต่างประเทศให้ริบทรัพย์สินคืนประเทศไทยด้วย นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ยังได้กล่าวขอบคุณกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาอันได้แก่ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI) สำนักปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (DEA) สำนักงานอัยการเขตตะวันออก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย และพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ที่ได้ประสานงานร่วมมือกันตั้งแต่การจับกุมนายอเล็กซานเดอร์ แคสในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการริบทรัพย์สินในคดีนี้