วันที่ 9 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยปีนี้ ทางนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงการเตรียมการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2565 ว่า ได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกันคือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 และถือเป็นวันเกษตรกรด้วย สำหรับในวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธีคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก โดยกำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา โดยในปีพุทธศักราช 2565 นี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาคือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอและพระโคเพียง พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ทั้งนี้ในปีนี้ กรมการข้าว ทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืช ซึ่งนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2564 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2565 ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป อีกทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และภายใต้มาตรการป้องกันควบคุม ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนงดการเดินทางมายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีฯ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สำหรับพิธีในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปีนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา และผู้ที่มาทำหน้าที่ เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงินนั้น จะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปี ซึ่งจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ พิจารณาคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน โดยในปีนี้ เทพี คู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการกรมปศุสัตว์ ขณะที่พระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมาย ให้กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2565 นี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 10 ปี ส่วนพระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 10 ปี พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่มและพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว เป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวง สีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า โดยนายสมชาย ดำทะมิส ได้บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอมอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และนายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง มอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านพันธุ์ข้าวที่นำมาประกอบในงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งประชาชนทุกเพศทุกวัยมักเดินทางมายังลานแรกนาท้องสนามหลวงโดยมีความมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาในปีก่อนหน้า ที่ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ ในปี พ.ศ. 2565 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม ประกอบด้วย 1. ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม จำนวน 245 กิโลกรัม 2. ปทุมธานี 1 เป็นข้าวเจ้าผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง จำนวน 399 กิโลกรัม 3. กข 43 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่มมีกลิ่นหอมอ่อน ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 125 กิโลกรัม 4. กข 6 เป็นข้าวเหนียวให้ผลผลิตสูง และทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม คุณภาพการสีดี ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล จำนวน 70 กิโลกรัม 5. กข 87 เป็นพันธุ์ข้าวประเภทพื้นนุ่ม ลักษณะเด่นพิเศษ ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 300 กิโลกรัม 6. กข 85 เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย ให้ผลผลิตสูงถึง 862 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวน 589 กิโลกรัม ทั้งนี้พันธุ์ข้าวดังกล่าว ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป