เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) โพสต์ข้อความระบุว่า... การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ที่ WHO ให้เฝ้าระวังมีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งอาจจะมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์(ปอด)จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (fusogenicity หรือ multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452” จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)” เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)” หรือ "กลูตามีน (Q)” (ภาพ 1) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับและทำลายด้วย “แอนติบอดี” ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะกลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบ และบางรายลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยรุนแรง สายพันธุ์ “เดลตา” มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น “R452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes) ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์บริเวณดังกล่าว กรดอะมิโนยังคงเป็น “L452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ แต่ที่น่ากังวลคือทั้งโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบฟ้า) ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น “Q452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเหลือง) กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) อันอาจก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes) ส่วนโปรตีนหนาม (Spike protein) ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะมีความเหมือนกับสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 มากกว่า สายพันธุ์ย่อย BA.1 (ภาพ 2) ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 น่าจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 ได้มากกว่าจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 โดยทั้งในประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.1 ตามมาด้วยสายพันธุ์ย่อย BA.2 อย่างยาวนาน แต่กระนั้นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ยังสามารถระบาดได้ในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ก็สามารถระบาดได้ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ 3) อันแสดงว่าการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ณ. ตำแหน่ง “452” น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการแพร่ระบาด ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลานพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง 452 เหมือนสายพันธุ์เดลตา คาดว่าจะทราบผลอาการทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนหากยังไม่ได้ฉีดและฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อครบกำหนดเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือจากวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ฉีดนานกว่า 4 เดือนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องเรามากจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ลดลง ศาสตราจารย์ อเล็กซ์ ซิกัล (Alex Sigal) นักไวรัสวิทยาที่สถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในแอฟริกาใต้ ผู้พบไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เบต้า และโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบุว่าจากผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่าการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นแล้วมีการติดเชื้อจะช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันลูกผสม (hybrid immunity) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่กว้างกว่า (broader) ไม่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิเท่านั้น “ภูมิคุ้มกันลูกผสม” แบบนี้สามารถต่อสู้กับโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นมาได้ดีกว่า https://www.nature.com/articles/s41392-022-00941-z https://edition.cnn.com/.../fitter-omicron.../index.html https://www.nbcnews.com/.../omicron-subvariants-mean... Omicron sub-lineages BA.4/BA.5 escape BA.1 infection elicited neutralizing immunity https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2022.04.29.22274477v1 https://www.forbes.com/.../birth-of-the-omicron.../...