วันที่ 9 พ.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 299,977 คน ตายเพิ่ม 611 คน รวมแล้วติดไปรวม 517,204,266 คน เสียชีวิตรวม 6,276,327 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 75.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.56
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 47.92 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.51
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ถึงแม้ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 24.88% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...เปรียบเทียบจำนวนการตรวจ RT-PCR ต่อประชากร 1,000 คน
หากลองเทียบกันระหว่างประเทศที่ตอนนี้มีจำนวนการติดเชื้อใหม่รายวันสูงเป็น 10 อันดับแรก
จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่่จะเพิ่มกำลังการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เพื่อเร่งควบคุมการระบาดภายในประเทศ
ในขณะที่ของไทยเรา ตั้งแต่ระลอกสอง สาม และสี่ในปัจจุบันนั้น จำนวนการตรวจต่อประชากร 1,000 คนนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและคงที่มาตลอด
เป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่าการประเมินสถานการณ์การระบาดจริงนั้นจำเป็นที่จะต้องรวมจำนวนการตรวจด้วย ATK เข้ามาด้วย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นขีดจำกัดของระบบการตรวจคัดกรองโรคที่จะรองรับการระบาดในอนาคตด้วย
...ด้วยข้อจำกัดเรื่องระบบการตรวจคัดกรอง และระบบการรายงานจำนวนการติดเชื้อ (รวมถึงการรายงานจำนวนการเสียชีวิตที่เห็นกันชัดเจนตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา)
อาจต้องระวังให้ดี เพราะการวางแผนนโยบายด้วยข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้เป็นแบบตาบอดคลำช้างได้ และเสี่ยงต่อภาวะคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียและผลกระทบตามมาดังที่ได้บทเรียนจากระลอกอัลฟ่าและเดลต้า
ระบบรายงานจำนวนการติดเชื้อควรนำเสนอทั้ง RT-PCR และ ATK และจำนวนรวม เพื่อนำมาใช้ในการประเมินสถานการณ์ วางแผนมาตรการต่างๆ และจะทำให้ประชาชนในสังคมได้ตระหนักถึงสถานการณ์
เฉกเช่นเดียวกับจำนวนการเสียชีวิต ควรนำเสนอทั้ง Death from COVID-19 และ Death with COVID-19 และจำนวนรวม เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์จริง และสังคมได้รับรู้รายละเอียด เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ป้องกันตัวอย่างดีขึ้น
...สถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว และมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการระบาดปะทุขึ้นได้หลังจากเปิดประเทศ การป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันยังจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากเสมอ คือหัวใจสำคัญ