วันที่ 7 พ.ค.65 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา ได้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยเพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ซึ่งควรได้รับวัคซีนกระตุ้น (เข็ม 3) และเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ซึ่งมีสถานศึกษาจับคู่สถานพยาบาลเปิดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 60% ให้แก่เด็กใน 2 ช่วงวัย คือ อายุ 5-11 ปี ในเข็มปกติ และอายุ 12-17 ปี เข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันพบการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากขึ้น ทั้งนี้สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขตและโรงเรียนสังกัด กทม. จัดทีมเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่นักเรียนชั้นอนุบาล 1- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามแนวทาง school based โดยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ในการให้บริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 5-11 ปี และจะวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม เป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปกครองและเด็กอายุระหว่าง 5-17 ปี เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทั้งก่อนและหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงการติดตามอาการของเด็กหลังการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมุ่งเน้นให้ผู้รับวัคซีนลงทะเบียนใช้งานระบบหมอพร้อม เพื่อตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีน และทำแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ในส่วนการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด ประกอบด้วย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500–1,000 ซีซี ต้องไม่มีไข้ หรืออาการเจ็บป่วย งดออกกำลังกายหนัก 2 วัน ก่อนและหลังการฉีดวัคซีนโควิด แจ้งข้อมูลสำคัญที่แพทย์ควรทราบก่อนฉีดวัคซีนโควิด เช่น โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน และข้อมูลอื่น ๆ ที่แพทย์ควรทราบ โดยหลังฉีดวัคซีนโควิดควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ ควรนั่งรอดูอาการประมาณ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการข้างเคียง หรืออาการแพ้วัคซีนโควิดอาจมีอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด โดยอาจอ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีนโควิด หลังฉีดวัคซีนโควิด อาจมีอาการปวดศีรษะหรือกล้ามเนื้อ 1-2 วัน ข้อแนะนำหากมีไข้ ให้รับประทานพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรสังเกตอาการ 24 ชั่วโมงแรก แล้วควรสังเกตอาการหลังจากนั้น 7 วัน และอีกครั้งหลังจากนั้น 30 วัน หากเกิดอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ดังนี้ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หลอดลมตีบ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว ผื่นลมพิษ อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติ หน้ามืด เป็นลม หากสงสัยว่ามีอาการแพ้วัคซีนโควิด หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที หรือติดต่อศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) โทร.1669 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง