บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) จากปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีข่าวปัญหาการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ข่าวที่ปรากฏค่อนข้างสับสน เนื่องจากมีสองฝ่ายที่สนับสนุนการถ่ายโอน และ ฝ่ายที่คัดค้านการถ่ายโอน ลองมาประมวลข่าวเพียงที่จับความได้บ้าง คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ก.ก.ถ.) เห็นชอบในการถ่ายโอน รพ.สต. ได้แก่ ภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,384 แห่ง บุคลากร จำนวน 12,000 คน ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ซึ่งต่อมาข่าวเมื่อ 18 เมษายน 2565 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่ อปท. ครั้งที่ 2/2565 มีการยืนยันตัวเลข ตามมติ ครม.15 มีนาคม 2565 จัดสรรงบปี 2566 รับถ่ายโอนภารกิจได้เพียง 512 แห่ง บุคลากรเพียง 2,860 คน จาก 3,384 แห่ง 12,000 คน ซึ่งตามข้อมูลบันทึกคำของบประมาณของสำนักงบประมาณ มกราคม 2565 มี รพ.สต.พร้อมที่จะถ่ายโอนเมื่อ มกราคม 2565 เพียงจำนวน 3,366 แห่ง ทำให้เห็นความสับสนของข้อมูลตัวเลขว่าทำไมไม่ถ่ายโอน 100% เพราะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่ อปท. พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ในเรื่องหลักเกณฑ์ และขั้นตอน การถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่ อปท. และประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 (ประกาศลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564) ซึ่งทางชมรม รพ.สต.(ประเทศไทย) ตั้งข้อสังเกตว่า การไม่ดำเนินการถ่ายโอน รพ.สต.ดังกล่าวเข้าข่ายเจตนากระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่อย่างไร เหตุใดผู้มีอำนาจจึงรั้งไว้ จึงได้ไปร้อง ป.ป.ช.ไว้ ซึ่งฝ่าย อบจ. มั่นใจว่าการถ่ายโอนภารกิจจะให้บริการประชาชนได้ดีกว่าเดิม ฝ่ายคัดค้านการถ่ายโอน รพ.สต. อ้างปัญหาที่ติดขัดเชิงกฎหมาย ข่าว 10 ธันวาคม 2564 ฝ่ายทักท้วงให้ชะลอเริ่มจากกลุ่มวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ได้ทักท้วงขอให้รัฐบาลทบทวนชะลอการถ่ายโอนไว้ก่อน และในขณะเดียวกันฝ่ายสนับสนุนการถ่ายโอน คือ ชมรม รพ.สต. ได้ออกมาสวนโต้แย้งฝ่ายทักท้วงทันที พร้อมระดมล่ารายชื่อให้มีการสนับสนุนการถ่ายโอนโดยเร็ว ทั้งนี้ สมาคมองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย โดยนายก อบจ. 49 จังหวัดได้ร่วมกับชมรม รพ.สต.สนับสนุนการถ่ายโอนโดยเร็ว และ ได้ยื่นหนังสือและเข้าพบ รมว.สาธารณสุขเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ข่าว 25 มีนาคม 2565 ส.ส.จังหวัดเชียงราย (นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ) ผู้ไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอน แจงข้อกฎหมายที่ติดขัด 4 ประการ คือ (1) พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 มาตรา 15 กำหนดให้ต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และมาตรา 43 กำหนดไว้ว่าเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการ หากมีการโอนย้ายไปแล้วทาง อบจ.จะมีการดำเนินการอย่างไร (2) การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. หรือบัตรทองอาจไม่มีปัญหา หากขึ้นทะเบียน รพ.สต.เป็นเหมือนคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่จะมีปัญหาการเบิกของประกันสังคม และเบิกจ่ายราชการ (3) กฎหมายวิชาชีพ ที่ รพ.สต.มีงานรักษาพยาบาลด้วยแต่ใช้ข้อยกเว้นที่ว่า เป็นการให้บริการภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล ดังนั้น หากโอนย้ายแล้วตัดงานรักษาออกจะส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ (4) การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ อบจ.ไม่ได้แสดงถึงความพร้อมในการบริหารจัดการ และมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะจะแยกออกมาจากเงินเหมาจ่ายรายหัวอย่างไร สรุป “การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่นไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่จะเป็นการวางระบบสาธารณสุขของประเทศใหม่” ดังนั้น จึงควรพิจารณามากกว่าแค่ถ่ายโอนหรือไม่ แต่จะพิจารณาเชิงระบบมากกว่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะหากวางระบบไม่ดี เราจะประสบปัญหาเหมือนกับที่พบกับระบบสาธารณสุขของ กทม. ที่ถึงแม้จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง มีคลินิกชุมชนอบอุ่นมากมาย แต่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน ข้อสงสัยประการหนึ่งคือ ตลอดระยะเวลาการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ.2542 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ใน 6 ด้าน ภารกิจทั้งสิ้น 245 เรื่อง มีส่วนราชการที่ถ่ายโอน 50 กรม ใน 11 กระทรวง ซึ่งเริ่มประกาศใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2545, พ.ศ.2551 และ ร่างแผนปี พ.ศ.2563-2565 จะเห็นว่ามีระยะเวลาที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบันนับเวลาได้ถึง 20 ปี แต่การถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท.ยังไม่แล้วเสร็จ ยิ่งมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะนำห้วงระยะเวลาที่สูญเสียไปแล้ว 20 ปี มานับรวมในยุทธศาสตร์ชาติอีกก็คงไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นว่าระยะเวลาล่วงเลยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2560 รวมถึง 3 ฉบับเชียวหรือ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ข้อมูลจาก ก.ก.ถ. และ การแถลงของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข(WM) ครั้งที่ 36 ปี 2560 เมื่อ 18 ตุลาคม 2560 มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. และเทศบาล รวม 23 จังหวัด อปท. 36 แห่ง รพ.สต. 51 แห่ง ซึ่งทำให้ ก.ก.ถ.ได้ยกประเด็นนี้เข้าสู่อนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาว่าเกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไร เหตุใดถึงมีการถ่ายโอนน้อย ทั้งที่ รพ.สต. ทั่วประเทศมีประมาณหมื่นกว่าแห่ง แต่มีตัวเลขโอนไปเพียง 51 แห่ง ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้สรุปในครั้งนั้นในตอนท้ายเพียงภาพรวมว่า (1) การบริการด้านสุขภาพที่ดำเนินการโดย อปท. ยังเกิดขึ้นในขอบเขตที่จำกัดเมื่อเทียบกับบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อเทียบกับปัญหาทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (งาน P&P ยังทำไม่มาก) (2) หน่วยบริการของ อปท. ที่มีขนาดเล็กหลายหน่วยกระจัดกระจาย มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงในการให้บริการกับประชาชน ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงเชิงประสิทธิภาพต่อไป ด้วยเหตุผลประการหนึ่งที่ให้ไว้คือ ผลที่เกิดจากการถ่ายโอนแตกต่างกันเป็นไปตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ (1) การจัดบริการสุขภาพโดยสถานบริการของเทศบาลและ กทม. (2) โรงพยาบาลองค์การมหาชน (บ้านแพ้ว) (3) การจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม (4) การสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ (5) อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (6) กองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่ (7) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นต้น มติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่ อปท. เมื่อ 18 เมษายน 2565 มีมติกำหนด 3 ทางเลือกเพื่อให้การถ่ายโอนฯ เป็นไปตามแนวทางที่ได้มีการกำหนดไว้ คือ (1) ให้ อบจ. ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยัง อบจ. ในยอดงบประมาณเท่าเดิมสำหรับส่วนที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนฯ (2) หากไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณฯ ได้ ก็จะขอมติจาก ก.ก.ถ. โดยให้ประธาน ก.ก.ถ. นำเรื่องเสนอ ครม. ขอใช้งบกลาง หรืองบอื่นๆ (3) หากไม่สามารถทำได้ ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการให้บุคลากรสามารถช่วยราชการไปพลางก่อนอย่างน้อย 1 ปี และเตรียมการถ่ายโอนให้ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งที่ประชุมย้ำว่า "การถ่ายโอนภารกิจฯ ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ตุลาคม 2565 หากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงงบประมาณไม่สำเร็จ จะเป็นลักษณะ “ของและภารกิจ” ไปก่อน เช่น งาน, สถานีอนามัย, วัสดุ ครุภัณฑ์, ที่ดิน ฯลฯ ส่วน “คน” จะตามไปช่วยราชการก่อน” ปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต.ที่แท้จริงคืออะไร เป็นคำถามของคนภายนอกทั่วไปที่เกิดความความสงสัย ด้วยเพราะเหตุระยะเวลาการถ่ายโอนตามแผนการกระจายอำนาจที่ยาวนานถึง 20 ปี ในมุมมองคนท้องถิ่นก็เกิดความฉงนสงสัยเช่นกัน เป็นประเด็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตบางประการ เพื่อกระตุ้นต่อมในการแสวงหาคำตอบให้มากขึ้น (1) สามประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ (1.1) ความก้าวในสายอาชีพ (Career Path) ของข้าราชการบุคลากรที่จะถ่ายโอนมา อปท. เนื่องจากข้าราชการกลุ่มนี้เป็น “สายวิชาชีพ” ที่อาจมีลักษณะพอคล้ายๆ กับการถ่ายโอนโรงเรียนเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเฉพาะทาง เป็นวิชาชีพเหมือนกัน (1.2) งบประมาณของ อปท. ที่จะสนับสนุน การรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น เช่น วัสดุอุปกรณ์บุคลากรที่ขาดแคลน แพทย์พยาบาล อาจใช้งบประมาณในการจ้างเหมาบริการบุคคล (Out Source)ได้ตามศักยภาพของ อปท. หากเป็น อบจ.จะไม่มีปัญหาในการจ้างเหมาบริการบุคคล เนื่องจาก อบจ.เป็น อปท.ขนาดใหญ่มีงบประมาณจำนวนมาก (1.3) การยกระดับการบริการการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในมิติของ “การจัดบริการสาธารณะ”(Public Service) และ “การจัดกิจกรรมสาธารณะ” ในด้านการสาธารณสุขและการอนามัยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 (2) ดูเหตุปัจจัยจากภายนอกเห็นว่า การถ่ายโอนไม่น่ามีปัญหาใด อาจเป็นเพียงส่วนน้อย (รพ.สต.51 แห่ง) ที่โอนไป อปท.ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งได้รับการดูแลจาก อปท.ต่างๆ ตามรายงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า ความพึงพอใจของบุคลากรถ่ายโอนอยู่ในระดับดีเป็นที่น่าพอใจแล้ว (3) หากส่วนกลางยังคงมีกรอบความคิดแบบ “อำนาจนิยม” หรือที่มีการเรียกขานใหม่ว่า “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” กล่าวคือ ส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจนี้ เกรงกลัวการสูญเสีย “ศูนย์กลางแห่งอำนาจ” ในการสั่งการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของตนไป เกรงว่าจะไม่มีตีนมือในการทำงานของตน (เพราะสูญเสียไป) ทำให้เป็น “ง่อย” ก็ขอให้เลิกคิดเช่นนี้ไปเลย โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะ การถ่ายโอนภารกิจนี้ ถือเป็น “การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น” เพื่อให้คนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตน ตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ของตนเองที่ดีกว่าส่วนกลางได้ดำเนินการ ตามที่ฝ่าย อบจ.ได้รับรองแล้วว่าจะจัดทำบริการสาธารณะนี้ให้ดีกว่าเดิม เป็นศักยภาพของท้องถิ่นที่มีพลังอยู่ในตัวแล้ว (4) การกระจายอำนาจรวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง จะทำให้ประเทศไทยเจริญ มากกว่าการใช้ระบบรวมศูนย์ ที่มีแต่จะล้าหลัง ไม่พัฒนา “ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเกิดความรู้สึกสำนึกผูกพันรักบ้านเกิด” (People Participation & Social Commitment) ที่ถือเป็นหัวใจของการถ่ายโอนภารกิจ ทั้งนี้เพื่อให้ท้องถิ่นได้ “สัมผัสในภารกิจนี้โดยตรง” เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน การให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านเองเป็นสิ่งที่ดี เป็น “นวัตกรรม” (Innovation) ของท้องถิ่นที่หลากหลายไปตามบริบทของท้องถิ่นแต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่ ที่แตกต่าง ไม่เหมือนกัน เพราะมีทรัพยากรของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน การสั่งการแบบ “แจกเสื้อโหล” (One Size) แบบ “สูตรสำเร็จ” ที่ทำเหมือนกันในทุกพื้นที่ทำให้ศักยภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่งสูญเสียไป เพราะการหยิบยื่นให้จากส่วนกลางนั้น บางท้องถิ่นอาจไม่ต้องการสิ่งที่หยิบยื่นให้นั้น แต่เขาต้องการอย่างอื่น การบังคับหยิบยื่นสิ่งที่เขาไม่ต้องการทำให้ไม่เกิดประโยชน์ พลังศักยภาพของท้องถิ่นที่มีจะไม่เอามาใช้ เพราะเขาไม่ต้องการ หรือต้องการน้อยกว่า จะสังเกตเห็นว่า วิถีชาวบ้าน วิถีชุมชนนั้นมักจะร่วมไม้ร่วมมือกันแสดงศักยภาพของตน เช่น การระดมงานบุญ ผ้าป่า กฐิน สามัคคีของโรงเรียน ของอนามัย (คือ รพ.สต.) โดยส่วนกลางไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ชาวบ้านล้วนๆ ที่ช่วยกัน จึงก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน พัฒนาพื้นที่ด้วยพลังของชาวบ้านเอง (5) หลักการทำงานท้องถิ่นที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักผิดหลงในตำแหน่งหน้าที่ของตน เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจแล้วเจ้าหน้าที่ซึ่งถือเป็น “ฝ่ายประจำ” ของ อปท.ต้องตั้งใจทำงาน อยู่ที่ อปท.แห่งใดก็ต้องทำงานให้เต็มที่ เสียสละ แต่ระบบบริหารงานบุคคลที่ผ่านมามีอุปสรรคปัญหาเกี่ยวกับความเติบโตก้าวหน้าในราชการของเจ้าหน้าที่ ทำให้ต่างขาดขวัญกำลังใจ และ การทำงานที่เอาเปรียบกัน แก่งแย่งกันเพื่อแสวงหาขั้นตำแหน่งที่ดี เสียเวลาในการทุ่มเทใจให้งาน การบริการประชาชนลดลง เพราะต้องมาแข่งขันกันเอาหน้าเพื่อตำแหน่งส่วนตน ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น (รวมทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น)ก็ต้องเข้าใจในบทบาทภารกิจหน้าที่ที่ถ่ายโอนมานั้น เพื่อสนองตอบต่อชาวบ้าน กล่าวคือ ภารกิจนั้นได้เปลี่ยนมือจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นทำ หรือบริหารจัดการ เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารท้องถิ่นไม่เข้าใจบทบาทตนเอง ผิดหลงไปว่า อปท.“ต้องการเงิน” (งบประมาณ) เพื่อการพัฒนาเท่านั้น ทำให้มีมุมมองทัศนคติในการบริการประชาชนที่ไม่ถูกต้อง เมื่อมีการโอนงานใดให้ก็บ่นว่า เอางานนี้มาให้ อปท.ทำไม ไม่เอาภารกิจนี้ ขอเอางบประมาณมาพัฒนาดีกว่า หรือโอนแต่งานให้แต่ไม่โอนเงินให้ เช่น เห็นว่าโอนภารกิจจ่ายเบี้ยยังชีพมาทำไม ส่วนกลางแจกจ่ายเองก็ได้ ส่วนกลางผ่องถ่ายภาระงานของตนให้ท้องถิ่น หรือ การถ่ายโอนถนนให้ แต่ไม่ให้เครื่องจักรกล ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดในบทบาทและบริบทของท้องถิ่น เป็นต้น (6) หากมองระยะเวลาที่สูญเสียไป เพราะไม่ได้มีการถ่ายโอน ลากยาวเป็นเวลานานถึง 20 ปี ในภารกิจที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนนั้น หากมองในมุมกลับ มองในภาพลบ อาจสังเกตได้ว่า ราชการส่วนกลางได้ใช้เวลานั้นปรับปรุงตัวเอง เพื่อหาจุดอ่อนของ อปท. เพื่อต่อต้านหรือระงับยับยั้งการถ่ายโอนก็ได้ เพื่อมิให้หน่วยงานของตนถูกยุบ หรือถูกรวมหน่วยงาน เช่น การออกข้อกำหนด กฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายโอน เพื่อสร้างความเข้มเข็งให้หน่วยงานราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคนั้นเอง เช่น การเปลี่ยนชื่อสถานีอนามัย (สอ.)เป็น รพ.สต.เพื่อเลี่ยงการถ่ายโอน การสร้างเครือข่ายของตนให้เข้มแข็งและมาอยู่ในบังคับสั่งการของตนเอง(ส่วนกลาง) เช่น เครือข่ายอาสากู้ชีพ กู้ภัย การแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) เป็นต้น หรือ การตราระเบียบกฎหมายต่างๆ เพื่อแข่งขันกันเอาหน้า เพื่อสร้างอำนาจขยายหน่วยงานของตนให้ใหญ่ มีอำนาจมากขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในสายงานอาชีพราชการส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคของตนเอง(ส่วนตน) ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นทั้งสิ้น (7) ข้ออ้างในข้อกฎหมายเพื่อความเป็นมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานสากลต่างๆ นานา ล้วนเกิดจากการสร้างเงื่อนไขของส่วนกลางเอง เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของหน่วยงานตนเอง(ราชการส่วนกลาง) โดยลืมไปว่า สมัยก่อนหน้านั้น สถานีอนามัยก็มีเพียงบุคลากรระดับพนักงานหมออนามัย (เจ้าพนักงานสาธารณสุข) หรือในท้องที่ห่างไกลก็มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน (สสช.) เท่านั้น แม้ต่อมาอย่างดีที่สุดก็เพียงพยาบาลเทคนิค หรือพยาบาลวิชาชีพ ไม่มีนายแพทย์ เภสัชกร หรือทันตแพทย์ แต่อย่างใด สถานีอนามัยในท้องที่ต่างๆ ก็ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาลต่างๆ ด้วยดีมาตลอด การถ่ายโอนภารกิจนี้ให้ อปท. ไยต้องมาติดล็อกเงื่อนไขกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมา มันก็ไม่ต้องถ่ายโอน คือเสมือนส่วนกลางได้ล็อกตัวเองไว้ ข้อเสนอเชิง “ติเพื่อก่อ” ข้างต้น เพื่อส่วนกลางพิจารณาเร่งการถ่ายโอนภารกิจแก่ท้องถิ่นโดยเร็ว มิใช่การหวงอำนาจไว้ ที่สวนทาง “หลักการกระจายอำนาจ” แก่ อปท.ตามรัฐธรรมนูญและตามหลักสากลโลก