ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ความสมบูรณ์แบบคือการผสมผสานสิ่งดี ๆ ทุกสิ่ง เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำให้เป็นไปได้ ในช่วง 4-5 ปีแรกที่ครูจิตราทุ่มเททำงานช่วยเหลือเด็กชาวเขาในหมู่บ้านที่ชายแดนไทยลาวในจังหวัดเลย ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ “ความช่วยเหลือที่มากเกินไป” เนื่องจากทางราชการของไทยคุ้นเคยกับระบบสังคมสงเคราะห์ คือการมองผู้รับความช่วยเหลือว่าเป็น “คนจนตรอก” ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีที่ไปไม่มีที่พึ่ง แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือ “พึ่งตนเองไม่ได้” ระบบราชการไทยจึงตั้งงบประมาณเน้นไปที่การ “ให้เปล่า” คือเอาเงินไปให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ เช่น ถึงฤดูเพาะปลูกก็ให้เงินไปซื้อเมล็ดพืช (ทั้งที่เขาก็เก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้บ้างแล้ว) พอหน้าแล้งก็เอาข้าวปลาอาหารไปให้ (ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาอยากได้หรืออยากกินอาหารชนิดนั้นหรือเปล่า) หรือพอหน้าหนาวก็ประชาสัมพันธ์เอาผ้าห่มไปแจก (ทั้งที่ของปีก่อนก็ได้มาบ้านละหลายผืน เพราะมีกลุ่มคุณหญิงคุณนายมาเที่ยวแจกหลายคณะและยังใช้ไม่หมด) โดยไม่ได้ทำสถิติรายงานว่า ได้ทำการ “สงเคราะห์” ให้ไปมากน้อยเพียงใด แต่ที่สำคัญนั้นก็คือไม่ได้ประเมินผลว่า เกิดผลดีหรือเป็นประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นตามมาบ้างหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต่างก็ “แย่งกันทำงาน” คือมีเป้าหมายเพียงแค่อยากให้หน่วยงานของตัวเองมีผลงานเยอะ ๆ บ้างก็เป็นการช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อน จนถึงการช่วยเหลือที่ไม่จำเป็น แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือไม่ใช่การช่วยเหลือที่ชาวเขา(และชาวบ้าน)ต้องการ ซึ่งทางมูลนิธิที่ครูจิตราทำงานอยู่ก็เคยเสนอแนะให้ความคิดเห็นและให้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ทางราชการไทยเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงาน แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในปี 2545 ได้มีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมครั้งใหญ่ รวมทั้งมีการปรับกลไกและกระบวนการทำงานของระบบราชการอีกด้วย เช่น การบริหารงานในส่วนภูมิภาคแบบบูรณาการ ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบริหารงบประมาณอย่างเบ็ดเสร็จ แล้วประสานความร่วมมือให้ส่วนราชการจากทุก ๆ กระทรวงทบวงกรมในแต่ละจังหวัดนั้นทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน โดยมีแผนงานที่มีการบูรณาการร่วมกัน คือคิดร่วมกันและทำร่วมกัน เรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์” (จนมีการเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดแบบนี้ว่า “ผู้ว่าฯซีอีโอ” และมีบริษัทเบียร์แห่งหนึ่งเอาไปทำเป็นโฆษณา เรียกเป็นผู้ว่าฯในชื่อเบียร์ของบริษัทดังกล่าวนั้น จนผู้คนจำได้กันติดปาก) ทำให้มีการนำแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบสังคมสงเคราะห์ในจังหวัด ให้เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด จึงทำให้ระบบการช่วยเหลือและพัฒนาชาวเขาดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการประเมินผลและปรับปรุงความช่วยต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขา รวมทั้งที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับ “ชาวเรา” ซึ่งก็คือชาวบ้าน ที่แต่ก่อนจะมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและอิจฉาชาวเขา ที่ได้รับการช่วยเหลือจนอู้ฟู่และอยู่ดีกินดีเกินชาวบ้านทั่วไป อีกแนวคิดหนึ่งที่ครูจิตราได้ไปเรียนรู้มาจากที่ได้ไปร่วมประชุมสัมมนาในต่างประเทศก็คือ ในต่างประเทศเขามีโครงการที่ให้พวกชนกลุ่มน้อยได้ “ร่วมทำประโยชน์” เพื่อสังคม คือไม่ใช่ให้แต่คอยรับความช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการและคนที่อยากทำกิจกรรม “เพื่อเอาหน้า” ทั้งหลาย มาระดมทำกิจกรรมให้พวกชนกลุ่มน้อย แต่ก็ให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น “สร้างสรรค์” กิจกรรมหรือโครงการบางอย่างขึ้นมาร่วมด้วย อย่างเช่น พวกยิปซีที่ก็คือพวกคนเร่ร่อน ที่มีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออก แทนที่พวกยิปซีจะเอาแต่เร่ร่อนและไม่ค่อยทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ให้ยิบซีเหล่านั้นช่วย “สร้างสีสัน” ให้กับเทศกาลต่าง ๆ คือออกมาช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวและการขายสินค้า เป็นต้น ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้พวกยิปซีก็จะได้ผลิตหรือนำเสนอสินค้าและการแสดงของพวกเขาออกมาร่วมสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกันนั้นก็มีรายได้และได้ปรับเปลี่ยนชีวิตให้เข้ากับสังคมผู้คนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ที่จริงทางราชการก็เคยคิดที่จะให้ชาวเขาจัดการแสดงและขายสินค้าต่าง ๆ มาบ้างแล้ว แต่ก็เป็นแบบ “ผักชีโรยหน้า” คือทำตามใจท่านผู้ว่าฯและนายอำเภอเป็นหลัก เพื่อเอาใจผู้ใหญ่จากส่วนกลางหรือแขกเมืองกับนักท่องเที่ยวที่มาจากที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าชาวเขาจะมีความพร้อมหรือไม่ เช่น ไม่ได้อยู่ในเทศกาลของชาวเขา แต่ก็บังคับให้จัดการแสดงในโอกาสนั้น ๆ ขึ้นให้ได้ หรือพยายามยัดเยียดให้สร้างสีสัน ด้วยการประดับประดาทั้งสถานที่และการแต่งกายจนมากเกินไป กลายเป็นภาระให้กับพวกชนเผ่าและผู้แสดง ซึ่งก็ต้องทำตามที่ “นายสั่ง” ด้วยความอิหลักอิเหลื่อ ที่สุดก็มีพวกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นนำเอาปัญหานั้นไปเสนอในการสัมมนา แล้วก็มีการเคลื่อนไหวไปยังรัฐบาลให้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการปรับแก้ ให้จัดการแสดงตามเทศกาลที่เป็นอยู่ของแต่ละชนเผ่า และให้เป็นการจัดแสดงด้วยความสมัครใจ ด้วยการริเริ่มของชุมชน ไม่ให้ข้าราชการหรือหน่วยงานใด ๆ ไปบังคับจัดการ อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งหนึ่งที่ห้ามหรือควบคุมไม่ได้ ก็คือในเรื่องของการขายสินค้า ที่พวกชาวเขาเองก็ไม่ได้มีการผลิตเพื่อขายจำนวนมาก ๆ อยู่ก่อนแล้ว พอนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา ก็มีพวก “สวมรอย” หรือพ่อค้าต่างถิ่นที่ผลิตสินค้าเลียนแบบมาวางขายจำนวนมาก หลายสิ่งก็ไม่ใช่สินค้าดั้งเดิมของพวกชนเผ่า แต่เป็นสินค้าที่ดัดแปลงแต่งเติมหรือคิดขึ้นใหม่ แล้วอ้างว่าเป็นสินค้าชาวเขา ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ใคร่มีใครให้ความสนใจมากนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าสินค้าของชนเผ่าแท้ ๆ ก็มีความพอใจเนื่องด้วยมีทางเลือกที่หลากหลายในราคาไม่แพง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือนักท่องเที่ยวไม่ได้สนใจว่าประเพณีวัฒนธรรมของพวกชาวเขาจะบิดเบี้ยวไปอย่างไร เพราะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของเขา โดยนักท่องเที่ยวบางคนถึงกับกล่าวว่า “ดีแล้วจะได้พัฒนาขึ้น ไม่ล้าหลัง” ตอนที่คุยกับครูจิตรา เธอเกษียณจากงานที่ทำให้มูลนิธินั้นแล้ว แต่เธอก็ยังทำงานในแนวทางที่เธอเคยทำนั้นต่อมา โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ทั้งที่เป็นคนรุ่นเดียวกันกับเธอและที่เป็นคนรุ่นหลังเพิ่งจบการศึกษามาใหม่ ๆ เธอมีความเห็นว่าหนุ่มสาวคนสมัยใหม่ มีความกระตือรือร้นในการทำงานในแนวนี้ดีมาก โดยมีความตื่นตัวและมีความรู้ในเรื่องที่ทำเป็นอย่างดี อาจจะเป็นด้วยคนเหล่านี้ให้ความสนใจในเรื่องของ case study และ best practice คือศึกษาเชิงลึกในเรื่องที่สนใจเป็นกรณี ๆ และให้ความสำคัญกับปัจจัยสู่ความสำเร็จ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ ที่ทำให้คนหนุมสาวสมัยนี้มีหูตากว้างขวางเป็นอย่างมาก เธอยังสนใจปัญหาสังคมใหม่ ๆ ที่เธอมองถึงเรื่อง “คุณภาพชีวิต” ที่แม้จะมีการทุ่มเทพัฒนาในทางกายภาพ คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ค่อนข้างดี ซึ่งในสมัยก่อนจะเน้นในเรื่องถนนหนทาง การศึกษา และการสาธารณสุข มีถนนดี ๆ โรงเรียนและโรงพยาบาลดี ๆ มากมาย แต่บางส่วนก็ยังไม่ได้พัฒนาด้านคุณภาพ อย่างถนนหนทางแม้จะดีมาก ๆ แต่ก็อันตรายมาก ๆ ด้วยสำนึกที่แย่ ๆ ของผู้คนที่เร่งรีบและขาดความเห็นใจกันและกัน ในขณะที่โรงเรียนก็มีห้องเรียนดี ๆ แม้แต่ในต่างจังหวัดก็มีห้องเรียนติดแอร์แล้วหลายแห่ง แต่ครูและการสอนก็ยังแย่ สร้างปัญหาระหว่างครูกับนักเรียนอยู่ไม่จบ เช่นเดียวกันกับโรงพยาบาล แม้จะมีอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัยและบุคลากรที่มีความรู้ดี ๆ แต่การบริการกลับแย่ลง ด้วยมุมมองที่ขัดแย้งกันในสังคมสมัยใหม่ ที่มีความต้องการและข้อเรียกร้องมากมาย ครูจิตรายังฝันถึง “ชีวิตที่ดีสมบูรณ์แบบ” และยังมุ่งมั่นที่จะพาทุกชีวิตไปให้ถึงจุดนั้นอยู่ทุกลมหายใจ