ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “พลังแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ คือรากเหง้าแห่งการขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวไปสู่อนาคต ด้วยการก้าวข้ามพ้น อุปสรรคที่โหมกระหน่ำเข้าสู่ชีวิต...มันคือนัยแห่งการโอบประคองและดูแลตัวเอง ให้ดำรงอยู่กับความหวังอันเจิดกระจ่าง...แม้ว่าในครั้งหนึ่ง...คนเราในแต่ละคนย่อมจะต้องได้เผชิญหน้ากับอุปสรรคนานาอันยากจะข้ามพ้น...ชีวิตทุกๆชีวิตย่อมมีบาดแผลที่ทำให้ต้องอ่อนพลังลงเช่นนี้เสมอ มันอาจคือบาดแผลแห่งชะตากรรม หรือ อาจเป็นวิกฤตแห่งวิกฤตของตัวตนที่อุบัติขึ้นอย่างเร้นลับโดยไม่รู้ที่มาที่ไปใดๆ” สาระในเบื้องลึกแห่งคำกล่าวนี้...คือความหมายโดยรวมของหนังสือแห่งเจตจำนงอันมีคุณค่าเล่มหนึ่งของโลกแห่งวรรณกรรม ณ วันนี้... “พลังแห่งชีวิต” (Chicken Soup for the Soul)...รวมเรื่องราวที่มีค่างดงาม ต่อการเติมเต็มหัวใจด้วยความรัก...ตลอดจนข้อคิดอันลึกซึ้งที่ช่วยเยียวยาความทุกข์จากความรื่นรมย์แห่งคุณค่าของความศรัทธาเหนือศรัทธา...นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของความเป็นหนังสือ ที่นำเสนอแนวทางของการให้กำลังใจอันสูงส่ง ด้วยการบอกเล่าและสื่อสารเรื่องราว จากประสบการณ์ตรงและจริง ของหมู่คนตัวเล็กๆในสังคม โดยผ่านการคัดกรองและเลือกสรรโดย “แจ็ก แคนฟิลด์” (Jack Canfield) และ “มาร์ค วิกเตอร์ แฮนเซน” (Mark Victor Hansen)...ทั้งนี้เพื่อเป้าประสงค์แห่งการรักษาและเยียวยาบาดแผลแห่งของชีวิตที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำและยากจะแก้ไข.. 28 ปี...ที่ผ่านมาหนังสือเล่มนี้ยังยืนยงและดำรงอยู่ในใจของผู้คนทั่วทั้งโลกอย่างติดแน่นและไม่เสื่อมคลาย...ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ...ซึ่งหากใครจะถามว่า อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จและสามารถมัดใจคนอย่างติดตรึง..คำตอบก็ย่อมจะเป็นว่า...เพราะคนเราทุกคนล้วนต่างมีเรื่องเล่าที่อยากจะแบ่งปันต่อคนอื่นๆในสังคม ทั้งในเรื่องที่เป็นส่วนตัว และ เรื่องราวแห่งสัญชาตญาณนานา ที่คนเราต่างโลดแล่นตามความฝันในวิถีสังคม...ทุกๆเรื่องราว ล้วนมีประเด็นหลักอันชวนขบคิด ที่สามารถเชื่อมโยงและพัฒนาไปสู่สัญญาณแห่งการตระหนักรู้อันถาวร..ได้.... ว่ากันว่า...นี่คือ “หนังสือที่สามารถรักษาหัวใจของเราทุกคน”...เนื่องเพราะ.. “ในชีวิตของคนคนหนึ่ง ย่อมมีสักครั้งที่เราต้องสับสนและหมดกำลังใจ ปรากฏการณ์เริ่มต้นของอาการนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเอง ล้มเหลว พ่ายแพ้ หรือ กระทั่งคิดไปว่า...ตนเองไร้ค่า...วิทยาการทางการแพทย์ในวันนี้...ยังไม่มียาที่สามารถเยียวยารักษาโรคนี้ให้หายขาด มีแต่เพียง การรักษาตามอาการ...อันหมายถึง เมื่อเจ็บตรงไหนก็ให้เยียวยาตรงนั้น” เหตุนี้เอง จึงทำให้หนังสือ”ความเรียง”..ในลักษณะเช่นนี้ สามารถครองใจนักอ่านได้ เป็นอย่างดี...ด้วยถ้อยคำที่สามารถช่วยปลอบประโลม...คำคมอันแยบยลที่ดูเหมือนจะธรรมดาที่ถ้าหากใครจ่อมจมอยู่กับปัญหาอย่างแก้ไม่ออก...ก็ย่อมคล้อยตามไปกับตัวอักษรนั้นๆ...เหมือนดั่งทุกคนที่ต้องคิด...ที่ต้องการพลังใจ “เพราะนี่คือยุค...ที่เราต้องการพลังใจมากกว่า ในยุคใดๆที่ผ่านมา” ในบทตอน “เรื่องของการเรียนรู้”...จดหมายแห่งบันทึกของเด็กน้อย “โจดี” ที่มีถึงคุณครู..เรื่องความเข้มแข็งของหัวใจ...นับเป็นบทสะท้อนของความไร้เดียงสาที่จริงใจ..ต่อภาวะของการสร้างอนาคตด้วยความหมายที่ล้ำลึกและเป็นบทเรียนที่สวยงามในเชิงประจักษ์...อันควรพินิจพิเคราะห์ยิ่ง... “เรียนคุนครู วันนี้แม่ล้องไห้ แม่ถามหนูว่า โจดี ลูกลู้ไหมว่าจิงๆแล้ว ทำไมต้องไปโลงเลียน หนูตอบว่าไม่ลู้ แม่บอกว่าเพราะเรากำลังส้างอนาคตให้หนู หนูเลยถามว่าอะนาคดคืออะไร หน้าตามันเป็นยังไง แม่ตอบว่า..แม่ไม่รู้หรอกโจดี จิงๆแล้ว ไม่มีใครมองเห็นอนาคตทั้งหมดของลูกนอกจากตัวลูก ไม่ต้องกังวนหลอก ลูกจะได้เห็น ลูกจะได้เห็นเอง แล้วแม่ก็ล้องไห้ และบอกว่า โจดี แม่รักลูกมากนะ แม่บอกว่าทุกคนต้องทำงานหนักมากเพื่อให้เด็กๆได้มีอนาคตที่ดีที่สุดเท่าที่โลกจะมีให้ได้... คุณครูคะ...เราจะเริ่มส้างอนาคตให้หนูได้ตั้งแต่วันนี้เลยไหม แล้วครูจะพยายามหนักมากๆ เพื่อส้างอะนาคตที่สวยงามให้เฉพาะแม่กับหนูได้ไหมคะ หนูรักคุณครูค่ะ รัก โจดี” จดหมายแห่งความไร้เดียงสาแต่สัตย์ซื่อนี้คือศรัทธาแห่งการก่อเกิด มันเริ่มจากสภาวะสื่อสารที่ผิดๆถูกๆ ด้วยการสะกดคำ แต่มันกลับเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมายของวัยวาร...คำตอบของการ “สร้างอนาคตให้หนู” จึงเป็นประหนึ่งบทเริ่มต้นของการก้าวย่างด้วยหัวใจแห่งการใฝ่หาเรียนรู้ ซึ่งที่สุดแล้วคำตอบทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นลมหายใจแห่งการก่อเกิดความหมายที่สำคัญต่อชีวิต...ในที่สุด “เวย์น ไดเออร์”ได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นคุณประโยชน์ต่อภาวการณ์ดั่งนี้เอาไว้ว่า.. “เมื่อคุณเห็นเด็กคนหนึ่งเริ่มมองภาพลักษณ์ของตัวเองดีขึ้น คุณจะเห็นเขาทำอะไรต่อมิอะไรสำเร็จหลายด้าน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ...คุณจะได้เห็นเด็กที่กำลังเริ่มมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น” ผมรู้สึกชื่นชมตัวอย่างชีวิตที่ครูคนหนึ่งที่อยู่ ณ “เอเวอเรตต์ โซสตรัม” ที่ถูกอ้างถึงไว้ ในหนังสือ”Man,The Manipulator”ซึ่งได้แสดงออกมา...มันเป็นภาพเงาแห่งความรู้สึกที่ทั้งแม่นตรงและจริงใจต่อการเริ่มสร้างตัวตนของชีวิตจากจุดก่อเกิดอันน้อยนิดไปสู่ส่วนขยายอันกว้างใหญ่ขึ้น... “ฉันรู้สึกโล่งอกอย่างใหญ่หลวงเมื่อเริ่มเข้าใจว่าเด็ก 1 คนต้องการมากกว่าแค่เนื้อหาในวิชาที่เรียน ฉันรู้จักคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี และฉันก็สอนมันได้ดี ฉันเคยคิดว่าสิ่งที่ฉันต้องทำมีเพียงเท่านี้ ปัจจุบันฉันก็เลยสอนเด็กๆ ไม่ใช่สอนคณิตศาสตร์ ฉันยอมรับความจริงว่า ฉันสอนได้สำเร็จกับคนบางคนเท่านั้น เมื่อไม่ต้องรู้คำตอบทั้งหมด ฉันก็ดูเหมือนจะมีคำตอบมากกว่า ตอนพยายามเป็นผู้เชี่ยวชาญเสียอีก เด็กที่ทำให้ฉันเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริงก็คือ “เอดดี”...วันหนึ่งฉันถามเขาว่าทำไมเขาถึงเรียนได้ดีกว่าปีที่แล้วมาก คำตอบของเขามีความหมายต่อทิศทางใหม่ทั้งหมดที่ฉันปรับใช้... “เป็นเพราะว่า ผมชอบตัวเองตอนนี้ ตอนที่ผมอยู่กับครูครับ” เขาตอบ... ผมถือว่าเรื่องของการเรียนรู้ คือความละเอียดอ่อนแห่งการสื่อสารทางจิตวิญญาณที่ก่อตัวขึ้นด้วยความรู้สึกและสำนึกที่งดงาม มันอาจเป็นเพียงนั้น ในความยิ่งใหญ่ทบซ้อนที่เหลือคณา..เราจึงมีความงามแห่งความหมายที่สามารถเป็นอะไรได้หลายๆสิ่ง ที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งสามารถสรรสร้างคุณประโยชน์ให้แก่นิยามอันถ่องแท้ของชีวิต... “นักเขียนดัง” ผู้สร้างอาณาเขตแห่งชีวิตเสรีให้กับ “โจนาธาน นางนวล”...ริชาร์ด บาค...ได้แสดงภูมิรู้ที่สำคัญในส่วนของ “การเรียนรู้” ตรงนี้ว่า... “การเรียนรู้คือการค้นหาสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว การลงมือทำคือการแสดงว่าคุณรู้จักมัน การสอนคือการเตือนผู้อื่นว่า...เขาก็รู้จักมันดีพอๆกับคุณ...คุณจึงเป็นทั้งนักเรียน นักปฏิบัติ และ ครู” ในบทตอนสำคัญที่ว่าด้วยความรัก... “แม่ชีเทเรซา” ได้เน้นย้ำความคิดอันลึกล้ำของท่านให้ชาวโลกได้เข้าใจและฝึกปฏิบัติในนามของชีวิตอย่างน่ายกย่องว่า... “จงแพร่กระจายความรัก ไปยังทุกที่ที่คุณไป ก่อนอื่นเริ่มที่บ้านของคุณ มอบความรักให้ลูกๆ ให้ภรรยา หรือ สามีคุณ ให้คนบ้านใกล้เรือนเคียง...จงทำให้คนที่เข้ามาหาคุณรู้สึกดีขึ้น หรือมีความสุขมากขึ้นเสมอ จงแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณาของพระเจ้า ให้ความเมตตาปรากฏอยู่บนใบหน้า.ในดวงตา ในรอยยิ้ม ในคำทักทายที่แสนจะเป็นมิตรของคุณ” คำกล่าวแห่งเจตจำนงอันงามนี้...คือพัฒนาการแห่งหัวใจที่จะทำให้ทุกคนได้หยั่งเห็นถึงความงามแห่ง “รักแท้” ที่ซ่อนอยู่ในหลืบเงาของชีวิต...ข้อคิดในเรื่องเล่าของ “แบร์รี และ จอยส์ วิสเซลล์”... “รักแท้”...คือภาพแสดงแห่งความทรงจำใต้จิตสำนึก ของเรื่องเล่าอันชวนตื่นตระการนี้.. “โมเซส เมนเดลส์โซน...ปู่ของคีตกวีชาวเยอรมันผู้โด่งดัง มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ มิหนำซ้ำยังค่อนข้างเตี้ย แถมหลังค่อมไม่สมประกอบอีกด้วย /วันหนึ่ง...เขาแวะไปเยือนพ่อค้าคนหนึ่งในเมืองฮัมบวร์ค ซึ่งมีลูกสาวแสนสวยชื่อ “ฟรูมซ์”...โมเซสตกหลุมรักเธอสุดหัวใจ แต่ฟรูมซ์กลับรู้สึกรังเกียจในความอัปลักษณ์ของเขา/...เมื่อถึงเวลากลับ โมเซส รวบรวมความกล้าขึ้นบันไดไปที่ห้องของเธอ เพื่อถือโอกาสสนทนากับเธอเป็นครั้งสุดท้าย เธองดงามดุจเทพธิดา แต่ก็ทำให้เขาเสียใจยิ่งนัก เพราะเธอไม่ยอมมองหน้าเขาเลย หลังจากพยายามพูดคุยอยู่หลายประโยค โมเซสก็ถามอย่างอายๆว่า “คุณเชื่อเรื่อง คู่แท้ที่สวรรค์จัดมาให้หรือเปล่า..”/... “เชื่อสิ” เธอตอบ ยังคงก้มหน้านิ่งมองพื้น... “แล้วคุณล่ะ เชื่อไหม” “เชื่อสิ ผมเชื่ออยู่แล้ว” เขาตอบ “คืออย่างนี้นะ เมื่อเด็กผู้ชายแต่ละคนจะจุติจากสวรรค์ พระเจ้าจะประกาศว่าเขาจะได้แต่งงานกับเด็กผู้หญิงคนไหน ตอนที่ผมจะมาเกิด เจ้าสาวในอนาคตของผมก็ถูกกำหนดไว้แล้ว จากนั้นพระเจ้าก็ตรัสต่อว่า..” แต่ภรรยาของเจ้าจะหลังค่อมนะ/... “ผมท้วงกลับทันทีว่า...โธ่ พระผู้เป็นเจ้า หญิงสาวหลังค่อมช่างอาภัพนัก ได้โปรดเถอะครับ ส่งโหนกนั้นมาให้ผมแล้วมอบความงามให้เธอ” ฟรูมซ์เงยหน้าขึ้นสบตาเขา แล้วความทรงจำใต้จิตสำนึกบางอย่างก็ถูกกระตุ้นขึ้นมา เธอยื่นมือให้เมนเดลส์โซน และ ภายหลัง ก็ได้กลายเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ของเขา เหล่านี้ล้วนคือตัวอย่างแห่งความหมายของชีวิตที่ดีงามและเป็นสัจจะ...เรื่องเล่าร่วม 100 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ จุดประกายให้การรับรู้ของชีวิตตกตะกอนอยู่กับผลึกความคิดอันทรงพลังและงามเฉิดฉายสู่ชีวิตเสมอ..มันเปรียบชีวิตในแต่ละชีวิตเป็นดั่งภาวะที่คุ้นชิน...ที่เราต่างเป็นอิสระ เป็นศูนย์กลางของพลังจักรวาล ... “ความมุ่งมั่นของคุณ คือพลังอำนาจของคุณ ...จงอย่าเสแสร้งว่าคุณไม่ได้มีมันอยู่...หาไม่แล้วคุณจะไม่มีจริงๆ..” “งามพรรณ เวชชาชีวะ”นักเขียนรางวัลซีไรต์..ได้ให้ข้อสรุปถึงความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างน่าใคร่ครวญว่า.. “28 ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้...ได้ยืนยงผ่านกาลเวลา ทั้งๆที่เมื่อเริ่มต้น สำนักพิมพ์ 144 แห่งปฏิเสธต้นฉบับนี้...หากถามว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จ คำตอบมีมากมาย ที่เด่นชัด คือ ทุกคนมีเรื่องเล่าที่อยากจะ “แชร์” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง พบเห็น หรือฟังต่อมา เรื่องราวที่สร้างพลังใจให้ไม่ย่อท้อต่อชีวิต ไล่ตามความฝัน เห็นความสำคัญของความรัก ความเข้าใจ...” “อรพิน ผลพนิชรัศมี” แปลและถอดความสาระเนื้อหาชองหนังสือที่ยกระดับและชุบชูจิตวิญญาณเล่มนี้ออกมาอย่างมีคุณค่า..มันคือตัวตนแห่งการค่อยๆสร้างความฝันให้เป็นความจริง..ซึ่งก็นับเป็นแก่นแกนแห่งศักยภาพที่จะทำให้เราทุกคนสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง...ตราบเท่าที่เรามุ่งหวังที่จะให้ความสำคัญแก่ “วิธีทำให้สำเร็จ”มากกว่าเหตุผลว่า”ทำไมจึงทำไม่ได้”...นั่นคือวิถีของนักรบและพลังแห่งคุณค่า ในวัฎจักรแห่งความเป็นชีวิตที่เป็นยิ่งกว่าชีวิตของเขา.. “ความแตกต่างพื้นฐานระหว่างคนธรรมดากับนักรบ...ก็คือ นักรบมองทุกอย่างเป็นความท้าทาย ในขณะที่ คนธรรมดามองทุกสิ่งเป็นพร หรือไม่ ก็คำสาปแช่ง”(ดอนฮวน)