ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: สุดสัปดาห์นี้นำเกร็ดความรู้พุทธศิลป์ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มานำเสนอ
ว่าไปแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย และยังเป็นสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะระดับชาติของประเทศไทย จึงเป็นแหล่งรวบรวมมรดกวัฒนธรรมของชาติไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เป็นการยากที่จะบอกว่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นไหนเป็นชิ้นเอก เนื่องจากทุกชิ้นมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนในที่นี้นำเกร็ดความรู้พุทธศิลป์ “พระพุทธสิหิงค์ หลวงพ่อศิลาขาว พระหายโศก” จากข้อมูลและภาพบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night at the Museum) เผยแพร่กรมศิลปากร ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ 10 ชิ้นห้ามพลาด ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ผ่านมา
พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัย – ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 นับถือกันว่าเป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ทรงอานุภาพ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์กล่าวว่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวง และเมืองสำคัญแต่โบราณของไทยหลายแห่ง นครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 อัญเชิญจากเมืองเชียงใหม่มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญออกไปให้ประชาชนสรงน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งภายหลังกรมศิลปากรได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อองค์จำลองสำหรับเทศกาลสงกรานต์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาขาว” ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13 – 14 พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปที่นำมาประกอบจาก 5 ส่วนคือ พระเศียรและบั้นพระองค์ได้มาจากวัดพระยากง ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนพระอุระ พระเพลา และพระบาท ได้จากวัดพระเมรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยช่างในอดีตใช้เทคนิคในการเข้าสลักลิ่มเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้ง 5 เข้าด้วยกัน
เมื่อ พ.ศ. 2509 อาจารย์เศวต เทศน์ธรรม ผู้ซ่อมแซมพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง 3 องค์ คือ ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ได้ใช้ปูนซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ในการซ่อมองค์พระ และใช้แท่งสแตนเลสเป็นแกนเพื่อยึดชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสามองค์ไม่พบชิ้นส่วนพระหัตถ์ ผู้ซ่อมแซมจึงใช้รูปแบบปางแสดงธรรมจากพระพุทธรูปนั่งขนาดเล็กในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นต้นแบบในการซ่อมแซม ปัจจุบันจัดแสดงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พระหายโศก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาทไขว้กันแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ(เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง เป็นท่านั่งที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “มารผจญ” เป็นกิริยาที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกแม่พระธรณีมาเป็นพยานการบำเพ็ญพระบารมี ส่วนฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยบัวหงายมีขนาดใหญ่กว่าบัวคว่ำและปลายกลีบดอกบัวมีความอ่อนช้อย กลีบบัวมีการตกแต่งด้วยลายพฤกษาและลายช่อดอกโบตั๋น จากพุทธลักษณะที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ 1 กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอน ด้านหลังที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน 1 11 + 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศก ศักราช 1218” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2399 ในรัชกาลที่ 4
นาม “หายโศก” สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่า เคราะห์ภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมนั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวง และใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พุทธศิลป์ “พระพุทธสิหิงค์ หลวงพ่อศิลาขาว พระหายโศก”