นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า ก่อนการประชุม มีการนำเสนอผลการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) กรณีการรับมือโควิด 19 ที่มีรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกนำคณะมาดำเนินการ ซึ่งมีผลสรุปในทิศทางที่ดีและมีประโยชน์ต่อประเทศไทย ทำให้ทั่วโลกให้ความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยมากขึ้น โดย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยสามารถตอบโต้กับสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างน่าประทับใจ โดยอาศัยความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว และการใช้แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้จริง โดยมีประเด็นที่นำไปพัฒนาต่อได้ เช่น การบูรณาการข้อมูล การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุน การพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน และชุดตรวจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงาน เช่น แผนการคัดกรองวัณโรค โดยกรมควบคุมโรค การจัดบริการโรคมะเร็ง โดยกรมการแพทย์ ขณะที่กรมอนามัยจะมีความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง มีโรคประจำตัว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งได้กำชับเรื่องคุณภาพมาตรฐาน
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้การติดเชื้อและการเสียชีวิตเริ่มลดลง เป็นไปตามคาดการณ์ อัตราครองเตียงและการใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 20% สอดคล้องกับนโยบาย 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ และยาพอ ขณะที่อัตราติดเชื้อในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศ อาจจะเสนอยกเลิก Thailand Pass สำหรับคนไทยให้เดินทางเข้าประเทศโดยเสรี เพราะหากติดเชื้อจะได้รับการดูแลตามสิทธิสุขภาพอยู่แล้ว และประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็มส่วนคนต่างชาติจะพิจารณาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด 19 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จึงขอให้มารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตลงได้ และเมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นจะช่วยให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น