วันที่ 4 พ.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ... วันหยุดพอมีเวลาเล่าเรื่องจาก Lab บ้างครับ... เมื่อช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมามี line เข้ามาจากน้องที่ทำงานบอกว่า ลูกสาวไปติดโควิดมาจากโรงเรียนอนุบาล (เป็นคลัสเตอร์ทั้งห้อง) พร้อมผลตรวจ ATK จากที่ swab จมูกออกมาเป็นบวก เนื่องจากเด็กน้อยคนนี้เคยติดโควิดช่วงเดลต้ามาแล้วรอบนึง การติดครั้งนี้จึงเป็นการติดซ้ำรอบที่สอง [โดยตอนนั้นไวรัสเดลต้าที่เริ่มจากน้องคนนี้ได้ส่งต่อไปยังพ่อแม่และ ผมสามารถแยกเชื้อได้จากตัวอย่างน้ำลายของคุณพ่อ เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้าต้นแบบที่โตดีที่สุดในแล็บตอนนี้] การที่น้องติดโควิดอีกรอบผมจึงสนใจอยากได้เชื้อตัวนี้มาศึกษาเพิ่มเติม แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก เพราะน้ำลายของน้องไม่ให้ผล ATK ที่เป็นบวก แสดงว่า ปริมาณไวรัสที่ควรแยกได้จะไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว คุณแม่ของน้องเลยใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งน้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว และ ส่งตัวอย่างน้ำล้างจมูกมาให้ผมเพาะเชื้อแทน ... เอาจริงๆตอนนั้นที่ผล ATK จากน้ำลายเป็นลบ ผมไม่หวังอะไรมากว่าจะสามารถเพาะเชื้อขึ้น โอกาสสูงที่น้องกำลังจะหายแล้ว และ ไวรัสที่ล้างออกมาถูกเจือจางด้วยน้ำเกลือไปพอสมควร เมื่อได้ตัวอย่างน้ำเกลือมาแล้ว ลองนำมากรองเอาแบคทีเรีย หรือ เชื้อโรคอื่นๆที่อาจปนเปื้อนมา ก่อนลองเพาะเชื้อลงเซลล์ดู วันรุ่งขึ้นเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่บอกว่า ไวรัสในตัวอย่างนั้นไม่น่าจะใช่ซากเชื้อแล้วหล่ะครับ เช้าวันนี้ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 40 ชั่วโมงหลังลงเซลล์ สิ่งที่เห็นในจานเพาะเชื้อคือ เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างชัดเจน เมื่อไวรัสเข้าติดเชื้อจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์ขึ้นมาบางส่วนที่ผิวเซลล์ โดยโปรตีนสไปค์นั้นจะไปจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ของเซลล์ข้างๆ และ เกิดปรากฏการณ์หลอมรวมกันของเซลล์ กลายเป็นรูปร่างเซลล์ใหญ่ๆที่มีนิวเคลียสรวมกันอยู่ตรงกลาง เรียกว่า Syncytium และถ้าการหลอมรวมดำเนินต่อไป เซลล์จะหดตัวกลายเป็นก้อนๆ และ พร้อมหลุดออกมาเหมือนในภาพ เป็นสภาวะที่อนุภาคไวรัสถูกปลดปล่อยออกมานอกเซลล์พร้อมไปทำลายเซลล์ปกติตัวอื่นต่อ ขณะที่เซลล์ที่หลุดออกมาก็เสียสภาพตายไปในที่สุด ผมลองเอาน้ำเลี้ยงเซลล์มา 10 ไมโครลิตร ซึ่งน้อยมาก หยดลงบน ATK ก็เป็นไปตามคาดครับว่า ไวรัสของน้องเพาะขึ้นได้อย่างงดงาม ก่อนนำไวรัสลงเพาะในเซลล์ ได้สกัด RNA ไปทำ RT-PCR เพื่อตรวจเช็คสายพันธุ์คร่าวๆ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่า น้องติด BA.2 มา โชคดีที่น้องมีอาการไข้สูงเพียง 1-2 วัน และ อาการโดยรวมถือว่าดีขึ้นมาก แต่ข่าวไม่ค่อยดี คือ คุณแม่ที่ดูแลน้องมีอาการเจ็บคอ ร้อนตา และ พบ ATK เป็นบวกแบบจางๆแล้วเมื่อเช้า ซึ่งคุณแม่เคยติด Delta มา และ ได้วัคซีน Moderna ใต้ผิวหนังไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ซึ่งน่าจะมีภูมิ Hybrid พอสมควร แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ BA.2 จากลูกสาว...หวังว่าภูมิจากคุณแม่จะทำให้อาการเบาๆ ไม่หนักเหมือนตอนติดเดลต้าครับ