กรุงเทพมหานครมีความแตกต่างจากจังหวัด เนื่องจากมีผู้บริหารคือ “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” (ไม่มีคำว่า “จังหวัด”) เป็นผู้บริหารราชการที่มาจากการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ โดยตรง
กรุงเทพมหานครไม่ถือเป็นจังหวัด แต่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ในขณะที่จังหวัดเป็นการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี
เมื่อโครงสร้างการปกครองแตกต่างกัน อำนาจหน้าที่ก็ย่อมแตกต่างกันด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานสังกัด กทม. ให้เป็นไปตามนโยบายที่ตัวเองเสนอไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจที่เจาะจงและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชีวิตคนกรุงเทพฯ โดยตรง เช่น บริหารจัดการสาธารณูปโภค ควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง กำหนดผังเมือง บริการทางสาธารณสุขและการศึกษา (เช่น สร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน) เป็นต้น ต่างจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหน้าที่นำนโยบายรัฐจากส่วนกลางไปปฏิบัติเท่านั้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีอำนาจดังนี้
• กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
• สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร
• แต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการการเมือง เช่น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
• บริหารราชการตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
• ออกระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย
• รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
• อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ เช่น การเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานครและมีอำนาจตามกฎหมายที่กำหนดไว้เป็น อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ฯลฯ แล้วแต่กรณีอนุโลม
เมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญเช่นนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นเวลา 2 ปี
(1) สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.
(2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
(3) สมัครรับเลือกเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
(4) เข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(5) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
(6) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
(7) ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
9 ปีแล้วที่คนกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หนึ่งในการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเพราะใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดนั่นเอง
กทม.ขอเชิญชวนคนกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 4,374,131 คน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เสียงคุณสำคัญ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร