ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผอ.สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Worsak Kanok-Nukulchai ระบุว่า...
คนไทยต้องอยู่กับโควิดให้เป็น
วันนี้ เป็นวันแรกที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ นี่คือสัญญาณที่บอกว่า แต่นี้ไป คนไทยคงต้องช่วยตนเอง เราต้องรู้ทันข้อมูล และสามารถอยู่กับโควิดให้ได้โดยไร้กังวล เพราะสายพันธุ์โอมิครอนถึงจะติดง่าย แต่ร่างกายก็สามารถกำจัดเชื้อด้วยตัวเองได้
สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ทางการรายงานทุกวัน ดูจะไม่มีความหมายอะไร เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มมองออกแล้วว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ ศคบ.ประกาศ คือ จำนวนเท่าที่ตรวจวัดได้ ด้วยทรัพยากรและแรงบันดาลใจที่ค่อนข้างจำกัด ถามใครก็รู้ว่า ผู้ติดเชื้อจริงมีจำนวนสูงกว่าเป็นสิบๆเท่า เช่น นาย ก. นาย ข. ข้างบ้านที่มีอาการติดเชื้อ พยายามโทรหาคอลล์เซนเตอร์ทั้งวัน ก็ไม่มีใครรับ จึงต้องรักษาตัวตามมีตามเกิดจนหายเอง แน่นอน ตัวเลขที่ทางการประกาศจึงไม่รวม นาย ก. นาย ข. และรายอื่นๆที่คล้ายกันจำนวนมากมายทั่วประเทศ
ในโพสต์นี้ ผมอยากให้มาดูกราฟที่สร้างจากข้อมูลที่ ศคบ. รายงาน ว่ามีความหมายอย่างไร คุ้มต่อการติดตามหรือไม่
1. ในบรรดาข้อมูลที่ประกาศเป็นทางการ ข้อมูลที่พอจะเชื่อถือได้ คือ จำนวนผู้เสียชีวิต (ภาพที่ 1) อย่างน้อยผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลย่อมปรากฏในรายงานที่ตรวจสอบได้ นี่จึงเป็นข้อมูลเดียวที่มีความหมายในการชี้แนวโน้มได้ และน่าเชื่อถือกว่าตัวเลขอื่นๆ
2. ส่วนกราฟผู้ติดเชื้อรายวันกรณีรวมและกรณีไม่รวมผู้เข้าข่าย ATK (ค่าเฉลี่ย 7 วัน) ได้แสดงในภาพที่ 2 กราฟที่ออกมาต่างจากที่ผมเคยคาดคะเนไว้ กราฟไม่ได้ดิ่งลงสวยงามเป็น Endgame เหมือนกราฟประเทศอื่นๆ ทำให้นึกถึงปรากฎการณ์ที่นักวิชาการเชิงตัวเลขเรียกว่า Garbage-In Garbage-Out
3. ด้วยการขาดความน่าเชื่อถือของรายงานผู้ติดเชื้อจากบางประเทศ ที่ขาดมาตรฐาน นักระบาดวิทยาจึงใช้วิธีประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อจริง โดยคำนวณจากฐานข้อมูลผู้เสียชึวิต ทำให้ได้กราฟผู้ติดเชื้อที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ดังในภาพที่ 3 [อ้างอิง 1] ซึ่งชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจริงของประเทศไทยเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่แค่เรือนหมื่นตามรายงานที่แชร์กันทุกเช้า แต่มีจำนวนสูงในระดับ 3 ถึง 4 แสนคนต่อวัน และเมื่อรวมสี่เดือนที่ผ่านมา พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยรวมกันถึงประมาณ 30 ล้านราย
4. จำนวนประชากรไทยที่มีภูมิคุ้มกันเชื้อโอมิครอน อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม (1) ผู้เคยติดเชื้อในสี่เดือนที่ผ่านมาประมาณ 30 ล้านคน (หมายเหตุ ไม่นับผู้เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนๆ ซึ่งหมดประสิทธิภาพไปแล้ว [อ้างอิง 2]) และ (2) ผู้ได้รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็มประมาณ 26 ล้านคน [ข้อมูล 1 พค. กระทรวงสาธารณสุข] ดังนั้น คนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอมิครอนแล้ว 56 ล้านคน หรือประมาณ 80% ของประชากรไทย ซึ่งก็ยังไม่ถึง % herd immunity ของโอมิครอน (ถ้าคิด R0=10, % Herd Immunity = 90 %)
บทสรุป การเปิดให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกับเชื้อโควิดในสถานการณ์ปัจจุบันโดยอิสระ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาว่า เรามีประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอมิครอนแล้วถึง 80% แม้จะยังไม่ถึงสัดส่วนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็ช่วยเป็นเกราะกำบังให้การแพร่เชื้อค่อยๆลดลง โดยพวกเราสามารถเฝ้าติดตามจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ควรจะลดลงจากนี้ไป แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า เชื้อโควิดจะไม่กลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่า เพราะภูมิคุ้มกันที่เคยมีก็อาจไร้ประสิทธิภาพไปด้วย
https://www.facebook.com/100005249319513/posts/1968588946659397/
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[1] https://ourworldindata.org/grapher/daily-new-estimated-covid-19-infectio...
[2] https://theconversation.com/what-we-know-now-about-covid...