ย้ำการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนหากไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ต้องเร่งนำผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน พร้อมแจงสาเหตุการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงกับผู้เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบโควิด เพราะมีมาตรการที่จะลดการตายจากการดูแลรักษาที่ต่างกัน จะช่วยให้วางมาตรการการรักษาในอนาคตได้
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อของไทยโดยติดเชื้อใหม่(เมื่อวาน 2 พ.ค.) 9,331 ราย ซึ่งลดลงจากหลายสัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 2 หมื่นราย ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนรับการรักษาของ สปสช. ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) และระบบรักษาที่บ้าน (HI) ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดมี 498,578 ราย ลดลงจากเดิม 6-7 แสนราย สะท้อนว่าสถานการณ์ลดลงจริง ส่วนผู้เสียชีวิตมี 84 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การรายงานผู้เสียชีวิตมีการปรับรายงานแยกระหว่างกลุ่มติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบและเสียชีวิต กับกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังและตรวจพบโควิด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีมาตรการที่จะลดการตายจากการดูแลรักษาที่ต่างกัน จะช่วยให้วางมาตรการการรักษาในอนาคตได้ ทั้งนี้ สายพันธุ์โอไมครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก แต่หากไม่ฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสป่วยหนักรุนแรงและทำให้เสียชีวิตสูง โดยการฉีดเข็มกระตุ้นจะลดการเสียชีวิตได้ถึง 31 เท่า ดังนั้น ต้องช่วยกันนำผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งปัจจุบันฉีดได้เพียง 41.5% ขณะที่ความครอบคลุมที่จะช่วยลดการป่วยหนักเป็นวงกว้างได้ คือ 60% ขึ้นไป ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดก่อนเปิดเทอมเช่นกัน
"สถานการณ์การติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิต ยังเป็นไปตามคาดการณ์ ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจะลดลงตามผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยปอดอักเสบหรือไม่ ยังต้องติดตามอีก 2-4 สัปดาห์ ขณะนี้จึงยังคงแจ้งเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มและสถานที่เสี่ยง เพราะบางจังหวัดยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสาน ส่วน 40 กว่าจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยลดลง และมีแนวโน้มคงตัว ได้ให้จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เพื่อมั่นใจว่าหากมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดง่ายรุนแรงมากขึ้นจะสามารถรับมือได้ โดยต้องมีวัคซีนและแพทย์เพียงพอให้การดูแลรักษาป้องกันได้ตามมาตรฐาน" นพ.จักรรัฐกล่าว