ยโสธร พัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มองค์ความรู้สมาชิกโครงการลูกหลานฯ และสมาชิกสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร จัดประชุมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีนางวิไล ยูฮันเซ่น สหกรณ์จังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดโครงการฯ พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อการสร้างเครือข่าย การทบทวนแผนพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาชิกโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรที่สนใจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 ราย ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงสหกรณ์การเกษตรกุดชุม จำกัด ตำบลตำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3,665 ราย และสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 701 แห่ง โดยในปี 2564 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร ซึ่งได้จัดกิจกรรมโครงการฝึกอบรมแนวทางการประกอบอาชีพเกษตรสมัยใหม่ ผ่านระบบสื่อสารทางไกล (ระบบ Zoom) เนื้อหาโครงการประกอบด้วย การจัดทำแผนการผลิต ความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช ด้วยสารชีวภัณฑ์ และด้านการตลาดสินค้าเกษตร และโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างทักษะการตลาดสินค้าเกษตร เนื้อหาโครงการประกอบด้วย การตลาดออนไลน์ การแปรรูปเพื่อการตลาด การเชื่อมโยงการตลาดกับสถาบันเกษตรกร และการจัดทำแผนการตลาด และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกร สร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน และเพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยได้กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรสมาชิกในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เกษตรกรและผู้แทนสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม จำนวน 15 ราย โดยมีกิจกรรมดังนี้ การจัดทำแผน การสร้างเครือข่าย การทบทวนแผนการผลิตการตลาด การเพาะพันธุ์ไม้และการดูแลรักษาพืชเกษตรผสมผสาน การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้เทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด การสร้างตลาดออนไลน์ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมฯ และการเข้าเรียนรู้ฐานเรียนรู้การเกษตร เช่น ฐานเรียนรู้ด้านประมง ฐานเรียนรู้ด้านพืช ฐานเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ และฐานเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตร โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน