วันที่ 28 ก ย 59 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคกีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นาย ชัยวัฒน์ ทองมูล อายุ 57 ปี และนาย อรุณ ฉายาจันทร์ อายุ 49 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขั้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง,ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฟ้องอัยการโจทก์สรุปว่า ก่อนวันที่ 12 เมษายน 2552 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน กลุ่มแนวเรื่องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงได้มีจัดการชุมนุมอยู่ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายพันคน โดยมีจำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม และมีนายสุภรณ์ หรือแรมโบ้ อัตถาวงศ์ กับพวกอีกหลายคน แบ่งหน้าที่สั่งการผู้ชุมนุม โดยตั้งเวทีปราศรัยดังกล่าว เพื่อขับไล่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีดนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2552 แกนนำผู้ชุมนุมได้สั่งการ กล่าวปราศรัย ยุยงปลุกปั่น ผ่านเครื่องขยายเสียงให้จำเลยทั้งสองกับพวกผู้ชุมนุมหลายพันคน เคลื่อนขบวนไปทำการปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย เพื่อจับตัวนาย อภิสิทธิ เวชชาชีวะ และให้ทำการขัดขว้างไม่ให้นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาใช้สถานที่กระทรวงมหาดไทยเป็นสถานที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับบาดเจ็บหลายรายและใช้ก้อนหินขว้างทำลายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทะเบียน ศฮ 9205 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั่งอยู่ในรถ ได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 ขึ้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และสถานที่ราชการ เหตุเกิดที่ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร และ แขวงดุสิต เขตดุสิต กทมโดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานเห็นว่า โจทก์มีพยานซึ่งเป็นพนักงานของรัฐจำนวน 3 ปาก ต่างเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมพากันไปปิดล้อมและเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย และทำลายทรัพย์สินของราชการ โดยมิได้ยืนยันตัวบุคคลแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน การที่กลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อมและเข้าไปภายในกระทรวงมหาดไทย ทั้งได้ทำลายทรัพย์สินทางราชการจึงไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นการมั่วสุม เพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าได้เข้าร่วมชุมนุมและได้เข้าไปในกระทรวงมหาดไทยด้วย จำเลยทั้งสองจึงถือเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิด และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันควร ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ไม่มีเจตนาบุกรุกนั้น เห็นว่า ในวันเกิดเหตุทางการได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการและกระทรวงมหาดไทยก็ได้ปิดทำการ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าไปติดต่อราชการแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปในกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสอง เข้าไปในกระทรวงมหาดไทยนั้น จึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีพยานใดมาเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยทั้งสองร่วมกันทุบตีรถยนต์ของนายกรัฐมนตรีและของคณะ หรือร่วมกันทำลายทรัพย์สินของทางราชการ เห็นว่าพยานโจทก์สามารถรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ฯ และร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันให้เสียทรัพย์และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่อย่างใด พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก,364,365 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม โดยให้จำคุกฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จำคุก คนละ 6 เดือน,ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก ข้อหาให้เกิดความวุ่นวาย คงจำคุก 4 เดือน ร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ คงจำคุก 2 ปี คงจำคุกคนละ 2 ปี 4 เดือน ขอหาอื่นให้ยกฟ้อง