ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: นำเกร็ดความรู้ศิลปวัตถุชิ้นเอกบางรายการ ที่จัดแสดงภายในอาคารพระที่นั่งต่างๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มานำเสนอ อันที่จริงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นไหนเป็นชิ้นเอกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทางพิพิธภัณฑ์บอกทุกชิ้นล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับศิลปวัตถุทั้ง 5 ชิ้น และภาพประกอบ ที่นำเสนอและข้อมูลเผยแพร่กรมศิลปากร สังเขป จัดแสดงในโบราณวัตถุ 10 ชิ้นห้ามพลาด พิพิธภัณฑ์ยามค่ำ งาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ผ่านมา พระคเณศ พระคเณศ 4 กร จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ลักษณะเป็นประติมากรรมจำหลักศิลานูนสูง ประทับนั่งบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ หัตถ์ขวาบนถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ หัตถ์ขวาและหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงศิราภรณ์ประดับด้วยกะโหลกมนุษย์ แม้แต่กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท และภูษาทรงล้วนประดับด้วยลวดลายกะโหลกมนุษย์ และสวมสายยัชโญปวีตรูปงู ตามประวัติกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเกาะชวาซึ่งเป็นชาวฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ. 2439 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พระปัทมปาณีโพธิสัตว์ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 กร ศิลปะศรีวิชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 พบเพียงท่อนบนพระวรกาย ที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะเอียงพระวรกาย ทรงศิราภรณ์ ส่วนยอดของชฎามกุฎหักหายไป พระเนตรเหลือบต่ำ สวมสร้อยประคำและกรองศอ พระอังสาด้านซ้ายคล้องผ้าเฉวียงบ่า และทับด้วยสายยัชโญปวีตประดับหัวกวาง สันนิษฐานว่าอาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณี ที่กล่าวถึงในจารึกวัดเวียงว่า ถึงพระเจ้าธรรมเสตะสร้างปราสาทอิฐสามหลังเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์สององค์ ซึ่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้มีผู้นับถืออย่างมากทั้งในพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน เคารพนับถืออยู่ในชวาภาคกลางในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้กับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง จัดแสดงห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท ตะเกียงโรมัน ขุดพบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ลักษณะตะเกียงหล่อด้วยสำริด ปลายด้ามมีช่องสำหรับวางไส้ตะเกียง ด้านบนมีฝาเปิดหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าไซเลนุส (Silenus) ผู้เป็นอาจารย์ของเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นของโรมัน ด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์มและปลาโลมาคู่หันหน้าเข้าหากัน ตะเกียงนี้อาจหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าทางทะเลในประเทศอียิปต์ เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 หรืออาจหล่อขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 และคงเป็นของที่พ่อค้าชาวอินเดียได้นำเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณที่พบนั้น ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบเหรียญโรมันสำริดของจักรพรรดิวิคโตรินุสที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าชุมชนโบราณในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก ได้แก่ กลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กรีก-โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 9 ซึ่งอาจเป็นการติดต่อโดยตรงกับพ่อค้าโรมันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามบ้านเมืองท่าชายฝั่งของอินเดีย หรือติดต่อผ่านพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองท่าต่างๆ ก็เป็นได้ จัดแสดงห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท ศิลาจารึกหลักที่ 1 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและพระแท่นมนังคศิลาบาตร ที่เนินปราสาทเก่าสุโขทัย และทรงอ่านจารึกได้เป็นพระองค์แรก เนื้อหาในศิลาจารึกแบ่งออกเป็นสามตอนคือ ตอนที่ 1 ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึงบรรทัดที่ 18 เล่าประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติใช้คำว่า “กู” เป็นหลัก ส่วนตอนที่ 2 เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เล่าถึงการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย เมื่อพ.ศ.1826 และจารึกตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นคำสรรเสริญพระเกียรติคุณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไป สันนิษฐานว่าเป็นการจารึกภายหลังหลายปี เนื่องจากตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 จารึกหลักนี้กำหนดอายุตามปีศักราชที่ระบุไว้คือ พ.ศ. 1835 และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) องค์การยูเนสโก จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พระอิศวรสำริด สมัยสุโขทัย อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ลักษณะตามประวัติ สันนิษฐานว่าคือ พระมเหศวร ที่กล่าวถึงในจารึกวัดป่ามะม่วงว่า พระมหาธรรมราชาธิราช ที่ 1 (พญาลิไท) โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน คู่กับพระวิษณุอีกองค์หนึ่ง เมื่อปีฉลู มหาศักราช 1271 ตรงกับปีพุทธศักราช 1893 จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นเกร็ดความรู้ศิลปวัตถุชิ้นเอกบางรายการ ที่จัดแสดงภายในอาคารพระที่นั่งต่างๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร