บทความพิเศษ/: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) เป็นคำถามสุดฮอตมาตลอดช่วงเวลา 1 เดือนมาแล้ว ก่อนอื่นต้องมานิยามถ้อยคำต่างๆ เสียก่อน เริ่มจาก “คนลูกหม้อท้องถิ่น” ที่หมายถึงคนท้องถิ่นที่แท้จริง คือ คนในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น นับตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 5 รูปแบบ มิได้หมายถึงคนจากราชการส่วนกลาง หรือจากราชการส่วนภูมิภาค รวมทั้งคนจาก “ส่วนภูมิภาคจำแลง” อย่างเช่น ฝ่ายปกครองท้องที่ หรือที่เข้าใจกันดีว่าคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ้านในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะเขตบ้านนอก เขตชนบท แต่ก็แปลกที่ยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตเมืองใหญ่ๆ อยู่ที่มิได้มีสภาพเป็นพื้นที่ชนบทเลย เพราะ เป็นเขตพื้นที่ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) ในเขตเมือง และชานเมือง ที่ไม่ขอยกฐานะเป็น “เทศบาล” คำต่อมาคือ คำว่า “ปลดล็อก” ทำไมต้องปลดล็อก รวมทั้งคำว่า “ถูกดองเค็ม” มีความเป็นมาอย่างไร “ปลดล็อก” ในภาษาบ้านๆ คือ “การถอดบ่วง ถอดสลัก ถอดกลอน ถอดกุญแจที่ปิดกั้นปิดล็อกกรงขัง กรงกรอบที่วงรอบเอาไว้ ให้ออกมาเป็นอิสระ” ที่หมายถึง การถูกขัง การถูกจำกัดกรอบการทำงาน รวมไปถึงการจำกัดกรอบความคิด ที่แต่เดิมเรียกว่า “ถูกดองเค็ม” เปรียบเหมือนดังเช่นการถนอมอาหารเอาไว้กินนานๆ ปานนั้น เป็นมหากาพย์เรื่องเล่ามาอย่างยาวนานในตลอดช่วงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน ก็รวมได้ 15 ปีแล้ว ที่จริงต้องรวมระยะเวลาตั้งแต่หลังปี 2546-2547 (ช่วง 3 ปี ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550) ไว้ด้วย เพราะพัฒนาการของ “การปกครองท้องถิ่น” ได้เริ่มต้นสะดุดและถูกจำกัดลงด้วยสาเหตุนานาประการ หลังจากที่บูมสุดขีดเป็น “ยุคทอง” ในปี 2546 ที่สำคัญคือมีการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ถือเป็นจุดเริ่มของ “การดองเค็มท้องถิ่น” หรือคำใหม่ที่เรียกว่า “ท้องถิ่นถูกปิดล็อก” นี่เรากำลังจะกล่าวถึงหลักการหรือปรัชญาของ “การปกครองท้องถิ่น” ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่มิใช่ ระบอบอำนาจนิยม หรือระบอบอื่นใด เพราะในโลกสากลนั้นหากไม่นับระบอบที่อ้างว่าเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือไม่นับระบอบก่อการร้าย (Terrorism) แล้ว ก็มีเพียงสองระบอบใหญ่เท่านั้น คือ (1) ระบอบเสรีประชาธิปไตย และ(2) ระบอบสังคมนิยม ที่ใช้อำนาจนิยมเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองระบอบนี้ต่างใช้ “ทุน” (Capital) เป็นสารัตถะแห่งการบริหารงานทั้งสิ้น จากการรณรงค์เมื่อปลายเดือนมีนาคมมาถึงวันที่ 1 เมษายนมีกิจกรรม "การเสวนาเรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น" คือ แคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” มีนักวิชาการที่น่าสนใจออกมาสรุปในวงเสวนามีประเด็นน่าสนใจมาก เอาเป็นว่าไม่ขอพูดมาก ไม่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะคนในวงการท้องถิ่นรู้ๆ กันดีอยู่ หลายๆ ประเด็นเป็นเรื่องที่ต่อสู้ทักท้วงกันมานานแล้ว หลายเรื่องเป็นเรื่องจริงๆ แต่พูดมากไม่ได้ เพราะมัน "แทงใจดำเกิน" แต่ที่น่าสนใจก็คืองานนี้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยเอาด้วย คือเห็นดีเห็นงามด้วยในวิถี ที่ว่าแทงใจดำด้วยเรื่องจริงๆ ขอแย้มจากประเด็นของนักวิชาการ/นักการเมืองคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า (Progressive/Liberal) ชูประเด็นเปิด 13 หลักการ แก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 14 "กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น" ทั้งงาน-เงิน-คน กำหนดภายใน 2 ปี ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องเริ่มทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ส่วนนักวิชาการมหาวิทยาลัยดัง ซึ่งมีตำแหน่งกรรมการกระจายอำนาจ (กกถ.) ที่คนท้องถิ่นยอมรับในฝีมือ มีความเชียวชาญด้านการคลังท้องถิ่น ก็ได้เปิดประเด็นบรรยายในหัวข้อ “8 ปีกับ 8 ตราบาป ที่รัฐกระทำต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ประหนึ่งว่า "ท้องถิ่นนี่หรือมีตราบาป" ก็จริงแหละ โดนๆ นะ อย่าได้ปฏิเสธหลอกตัวเองกันเลย มันน่าอาย 8 ตราบาป ที่ชอกช้ำที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นมีอะไรบ้าง ขอยกมาหมดเลย คือ (1) การทำลายกลไกประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ทำให้ทิศทางการพัฒนาในระดับพื้นที่สะดุดและขาดตอน เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 ที่มีคำสั่งแขวน และปลดผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกเข้ามา ก่อนจะแต่งตั้งข้าราชการที่ไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ และความต้องการของประชาชนเข้าไปบริหารงานแทน เป็นหลักคิดที่ผู้มีอำนาจเชื่อว่ามีเสียงเหนือกว่าประชาชน (2) บิดเบือนกลไกการตรวจสอบ และนำกลไกเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือลงโทษนักการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้าม (3) การเตะตัดขาการทำงาน และบอนไซท้องถิ่น เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างจำกัด ส่วนท้องถิ่นจะทำดีเกินหน้าไม่ได้ แม้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ตาม (4) วางยาท้องถิ่น ใครเชื่องเป็นลูกรัก ใครดื้อกลายเป็นแพะ เช่น การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ในการรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่ส่วนท้องถิ่นนั้นถูกกล่าวหาว่าใช้เงินซื้ออุปกรณ์ยังชีพให้ครัวเรือนด้วยราคาแพง ทั้งที่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าทำตามคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดทุกประการ (5) การปล้นเงิน และผลงานอย่างถูกกฎหมาย เช่น รัฐบาลได้ผลงานจากการลดการเก็บภาษีจากประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นภาษีที่มาจากท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ 7 หมื่นล้าน ทำให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้ แต่รัฐบาลได้ผลงานไป ทั้งที่การเก็บภาษีของท้องถิ่นถือเป็นการกระจายอำนาจทางการคลังเพื่อระดมเงินมาจัดทำสิ่งที่ท้องถิ่นต้องการ (6) การสร้างมายาคติว่าท้องถิ่นคดโกง ไม่พร้อม และเอาแต่หาเสียง ทำให้คนเข้าใจผิด และไม่หนุนเสริมท้องถิ่น ซึ่งหนักมากขึ้นในช่วงหลัง คือ หากท้องถิ่นทุจริตจะตีข่าวยาว แต่การทุจริตของส่วนกลางจะจบใน 1-2 วัน ทั้งนี้ ท้องถิ่นเป็นองค์กรที่เข้าถึง และตรวจสอบได้ง่าย ดังนั้น ถ้าใครโกงก็จับ สิ่งต่างๆ จะดีขึ้น (7) การรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทั้งเรื่องงาน เงิน คน และความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการทำโครงสร้างระบบให้อ่อนแอ แต่เมื่อรวมอำนาจไปที่ส่วนกลางจริงทำให้เกิดระบบคอขวด ข้าราชการหนึ่งคนรับผิดชอบในทุกเรื่อง มีชื่อเซ็นเอกสารอนุมัติหลายโครงการ จนกระทบกลไกตรวจสอบภายใน (8) รัฐบริหารงานแบบ one-man show ทำให้ขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน ทำงานให้เสร็จ เบิกงบประมาณให้ครบ และคะแนนเคพีไอดีก็พอ ส่วนจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นักวิชาการท่านนี้สรุปโดนใจคนท้องถิ่นมาก สรุปแก่นได้ว่า ท้องถิ่นไทยเจ๋งและไปได้ไกลกว่าที่คิด มีนวัตกรรมใหม่ที่ดีๆ หลายอย่างที่ต้องต่อยอดส่งเสริม เช่น การพัฒนาทำถนนคนเดินในชนบท ที่สร้างมูลค่าและรายได้ให้ชุมชนหาก "ไม่ปลดล็อก ถือเป็นการสร้างตราบาปให้ท้องถิ่น" "ตราบาปนี้คนสร้างรัฐส่วนกลาง ที่ฉุดรั้งท้องถิ่นเอาไว้ ส่งผลให้การกระจายอำนาจ ย่ำอยู่กับที่" หากไม่หนุนไม่เสริมให้ท้องถิ่นทำงานอย่างอิสระแล้วท้องถิ่นไทยและประเทศไทยจะล้าหลังหยุดอยู่กับที่ไปอีกนาน มาดูเหตุผลว่าทำไมท้องถิ่นต้องปลดล็อก เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเป็นความเห็นเสริมที่คนท้องถิ่นพูดกันมานาน พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าเบื่อ สำคัญว่าผู้มีอำนาจจะยอมรับฟังกันแต่ไหน หลายอย่างเขารับไม่ได้ อ้างไม่พร้อม ไม่ถูกกับบริบทไทย ก็อ้างกันไป แต่อย่าอ้างเฉยๆ โดยไม่มีข้อเสนอทางแก้ไข หรือไม่ยอมมาพบกันแม้เพียงครึ่งหนึ่งหรือเพียงเศษเสี้ยวของทาง ปัญหาโลกแตกจะไม่หยุดหากไม่ยอมรับฟังกันบ้าง ทำไมต้องปลดล็อกท้องถิ่น มาฟังกันสักนิด (1) เชิงนโยบายท้องถิ่นต้องเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การจัดทำบริการสาธารณะ (Public Service) และ ในการจัดกิจกรรมสาธารณะ ผู้กำกับดูแลต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ การปรับเปลี่ยนแนวคิด (Mind set) ให้ทันโลกสมัยใหม่ (Normal/Disruptive) มันจำเป็นมาก การแนะนำสอนงาน(ไม่ใช่การสั่งการ) ให้แก่ อปท. ต้องแนวใหม่ อะไรที่ผ่านมาที่มั่วๆ เปลี่ยนใหม่ได้ ตั้งหลักให้ถูก เพราะเคยมีกรณีว่ากฤษฎีกาเคยทักท้วงสอนงาน มท.มาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะขอเพียงว่า ผู้ “กำกับดูแล” (Tutelle) อย่าได้มีสำนึกเด็ดขาดว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของท้องถิ่นเท่านั้นพอ (2) สรุป มี อปท.รูปแบบทั่วไป และ อปท.รูปแบบพิเศษ อาจไม่เพียงพอในโอกาสต่อไป อาจมี อปท.พิเศษที่หลากหลายมากขึ้นได้ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะทาง เขตพื้นที่ชายแดน เขตพื้นที่ท่องเที่ยว เขตเมืองอุตสาหกรรม ที่ไม่ว่าอาจมี "City Manager" หรือ “ระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง” ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพที่มาจากการจ้างก็ได้ ซึ่งปัจจุบันการแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นการจ้างผู้บริหารท้องถิ่น ในรูปแบบของเมืองพัทยา (เดิมที่ถูกยกเลิกไป) (3) ประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เช่นเรื่องกฎหมายสัญชาติ กฎหมายอาวุธปืนและวัตถุระเบิด อส. ชรบ. ค่อนข้างมีความสำคัญ ที่ละเอียดอ่อน การถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นเช่นนี้มีข้อจำกัด อาจมีคณะกรรมการมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ลำพัง กอ.รมน. หน่วยความมั่นคง หรือทหาร น่าจะไม่เพียงพอ (4) การแบ่งแยก/แยกแยะ “หน้าที่และอำนาจ” ตามภารกิจการถ่ายโอนของท้องถิ่น ในการ “จัดบริการสาธารณะ” (Public Service) และ “จัดกิจกรรมสาธารณะ” แต่มีความเป็นห่วงเรื่อง “กระแสการเมืองท้องถิ่น” ของกลุ่มอำนาจ เช่น หาก ผู้บริหาร อบจ. คนละกลุ่มกับ เทศบาล หรืออบต. หากกลุ่มเดียวกันเป้าหมายเพื่อประชาชน จะดีกว่า เพราะขัดแย้งกันน้อย หากแต่เป็นคนละกลุ่มอำนาจกันอาจจะขัดแย้งกัน เดินคนละทางต่อให้ได้คนดีเพียงใดก็ตาม (5) ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นมีเพียง 30% ยังไม่ถึงครึ่ง เป็นเรื่องที่ดีที่หากสัดส่วนสูงขึ้น ทำให้ อปท.มีรายได้พัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น ต้องยอมรับว่าบางท้องถิ่นในชนบท (Rural) ต่างจังหวัดจำนวนมากมีบ้านคนห่างๆ กันมาก ประชากรอาจเบาบาง ไม่เหมือนในเขตเมือง (Urban) หากผู้บริหารท้องถิ่นได้รับงบประมาณมากแล้วทำเรื่องที่จำเป็นก็จะเกิดประโยชน์ แต่หากทำแล้วผลาญงบประมาณไม่เกิดประโยชน์ ก็จะเกิดคำถามจากผู้เสียภาษีเยอะว่า การจัดสรรภาษีแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือ (6) แผนการกระจายอำนาจที่ผ่านมาล้มเหลว แผนปฏิบัติการถ่ายโอนอำนาจ พ.ศ.2546 สะดุด ไม่ยอมถ่ายโอน เช่นการถ่ายโอนทางหลวงชนบท การถ่ายโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) การถ่ายโอน รพ.สต. (7) การตั้งบริษัท เป็นบทบัญญัติข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามรัฐเข้าไปทำกิจการแข่งขันกับเอกชนในการ “หารายได้” การจัดตั้ง “บริษัทร่วมทุน” ระหว่าง เอกชน กับ อปท. หรือกับ อปท.ด้วยกันเอง ต้องมีกฎหมายรองรับ เช่น “Joint venture” (บริษัทร่วมทุน) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำให้เป็นเอกชน “Privatization” หรือ “การจ้างเหมาเอกชน” (Out source) ได้ หรือ “กิจการสหการ” (Syndicate) ของท้องถิ่น อยากให้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าใครบ้างที่สามารถเป็นกรรมการบริษัท กลุ่มการเมืองเป็นกรรมการได้หรือไม่ หากผู้บริหารท้องถิ่นใช้เงินของท้องถิ่นตั้งบริษัทดีก็ดีไป แต่หากคิดไม่ถี่ถ้วนนำเงินไปลงทุนทำบริษัทแล้วไม่ประสบความสำเร็จจะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง เหมือนดังเช่น ข่าว (2558) เทศบาล 5 แห่งในจังหวัดขอนแก่น ร่วมมือกันตั้งบริษัทจำกัดจัดระบบขนส่งมวลชน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (the construction of a light rail system in the city) หรือ โครงการระบบขนส่งมวลชนแบบอัจฉริยะ Khonkaen Smart Mobility หรือ ระบบขนส่งมวลชนโดยใช้รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) เป็นต้น (8) หลักการบริหารงานบุคคล (Personnel Administration) ต้องคุยกันหลายประเด็น เช่นถ้าเรื่องโอนย้ายผู้ปฏิบัติการ สายบริหาร จะกำหนดเวลาเอาไว้ หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ให้สามารถย้ายได้ เพราะหลายท้องถิ่น ไม่มีแม้กระทั่งปลัด รองปลัด ผอ. ให้ระดับปฏิบัติการรักษาการแทนเพราะติดปัญหาการย้ายที่คณะกรรมการใหญ่ยังไม่ให้ย้าย หรือประเด็นการเข้าสู่ตำแหน่งการสอบแข่งขันเข้ารับราชการปัจจุบันให้ส่วนกลางสอบให้ หลายคนก็ยังสบายใจ หากให้ท้องถิ่นเป็นผู้ออกข้อสอบเองเป็นกรรมการออกข้อสอบเองอันนี้ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สอบเชื่อมั่นในกระบวนการ เพราะปัจจุบัน อำนาจการบริหารงานบุคคลทั้งหมด เป็นแบบ “นายก อปท.มีอำนาจมากล้น” (Tremendous Power) ไม่มีการคานอำนาจเลย ปลัด อปท.ไม่มีอำนาจการบริหารงานบุคคลตามที่ควรจะเป็น กล่าวคือ อำนาจเป็นอำนาจดุลพินิจของนายก อปท.ทั้งหมด โดยมี ก จังหวัดเห็นชอบบางอย่าง ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริการงานบุคคล พ.ศ.2542 (9) ภูมิภาคต้องกำกับดูแล (Tutelle) เท่านั้น โดยเฉพาะการเป็นพี่เลี้ยงสอนงานที่ดี ไม่ก้าวล่วง แทรกแทรง ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ไม่ใช่การบังคับบัญชา (Control) ท้องถิ่นไม่ใช่ลูกน้อง หรือจำเป็นต้องสั่งการจริงๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอันเป็นสาธารณะ (Public Interest) ภูมิภาคต้องใช้คำว่าขอความอนุเคราะห์ ขอความร่วมมือ ประสานงาน มิใช่การสั่งการให้ปฏิบัติ หรือถือปฏิบัติ (10) การมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) การถอดถอน (อเมริกัน เรียก Impeachment = Resignation) เห็นด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านเกิด “มีสำนึกรักและหวงแหนชุมชนของตนเอง” (Organizational Commitment) (11) จากที่กล่าวข้างต้นในฐานะประชาชนคนไทยที่รักประเทศชาติไม่แพ้กัน ต้องยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดชัดเจน ใครทำดีต้องชื่นชม ใครทำไม่สมควรต้องตำหนิ ต้องเสนอแนะ เสนอว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” คงไม่ไกลเกินไปในจังหวัดที่มีความพร้อม ที่เจริญๆ ทดลองนำร่องสัก 1-2 จังหวัด แล้วค่อยขยายผล เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น จำนวนประชาชนแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ที่ท่านคิดเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่หลายคนยังมีความกังวลเรื่องภาพรวมของประเทศ หากเราจะเลือกตั้ง ซึ่งเป็น “ความรู้สึกของคนมีเพียงว่าเป็นอิสระกันทุกจังหวัด” แต่ข้อเท็จจริงมิใช่ เพราะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น มิใช่การปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federation State) นโยบายสำคัญๆ ของประเทศ เช่นนโยบายแก้ปัญหาความยากจน (Poverty) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequity) นโยบายสาธารณสุขฯ รัฐสวัสดิการ (Welfare State) หากรัฐบาลใด เห็นว่าดี แต่จังหวัดนั้นมิใช่คนของรัฐบาลอาจไม่เห็นด้วย ก็เลยไม่ทำตาม เราจะแก้ไขปัญหาจุดนี้กันอย่างไร คงมิใช่การอ้าง และการใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี