ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความสำเร็จของผู้คนไม่ได้มาจากความมุ่งมั่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ดีที่สุดอีกด้วย
เมื่อจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ครูจิตราก็หางานทำได้ในทันที เพราะไม่ต้องไปสอบแข่งขันหรือเลือกหางานดี ๆ อะไร นั่นก็เป็นเพราะว่าครูจิตรามีความมุ่งหวังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าอยากจะเป็นครู แต่เมื่อในระบบราชการของไทยเต็มไปด้วยการแข่งขันและเส้นสาย งานราชการจึงไม่ใช่เป้าหมายของครูจิตรา และอาชีพครูก็ค่อนข้างเปิดกว้าง มีทั้งโรงเรียนเอกชนและองค์กรการกุศลอีกมากที่ต้องการครู ซึ่งครูจิตราก็เลือกองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ที่มีกิจกรรมเพื่อการสงเคราะห์ให้กับเด็กด้อยโอกาส อัตราเงินเดือนก็ไม่ได้มากกว่างานราชการมากนัก แต่ก็มีส่วนสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายให้กับครูจิตรา โดยเฉพาะประสบการณ์ในต่างประเทศ
ครูจิตราเริ่มต้นทำงานในองค์กรการกุศลแห่งนั้นในหน้าที่ผู้ช่วยของผู้อำนวยการ ซึ่งอาจจะเป็นด้วยครูจิตรามีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี แปลและเขียนภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนการพูดก็พอใช้ได้ แต่ที่ครูจิตรามีมากกว่าคนอื่น ๆ ในองค์กรก็คือ “ความสนใจใฝ่รุ้” ในขณะที่คนอื่นคิดแต่จะเอาผลตอบแทน เช่น ขยันสร้างผลงานเพื่อหวังในโบนัส หรือหาช่องทางที่จะได้ไปต่างประเทศโดยการประจบประแจงผู้บริหาร เป็นต้น แต่ครูจิตราที่ได้รับงาน “พื้น ๆ” จำพวกงานเอกสารและการจัดเก็บพัสดุ กลับทำงานได้เข้าตาผู้บริหารมากกว่า เพราะทำงานได้เรียบร้อยรวดเร็ว แต่ที่โดดเด่นกว่าคนอื่นตรงที่ มีการทำงานเพิ่มเติมหรือทำล่วงหน้าโดยไม่ต้องสั่งอีกที ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้บริหารต้องการข้อมูลใด ๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กรที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันในประเทศต่าง ๆ ครูจิตราก็จัดหาให้ได้ในทันที ทั้งนี้ก็เป็นเพราะครูจิตราสนใจในกิจกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่ที่เป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษในโรงเรียนชั้นมัธยมนั้นแล้ว
ครูจิตราทำงานอยู่ถึง 5 ปีจึงได้หน้าที่เป็นครูอย่างที่ตั้งความหวังไว้ ตอนแรกผู้บริหารก็ไม่รู้ว่าครูจิตราต้องการที่จะเป็นครู แต่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศกับผู้อำนวยการในครั้งหนึ่ง ครูจิตราก็บอกกับผู้อำนวยการตรง ๆ ว่า ตั้งใจที่จะมาเป็นครู และจะมีความสุขมากถ้าหากได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นครู โดยเฉพาะที่จะได้สอนกับเด็กที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ดังนั้นต่อมาไม่นานครูจิตราก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ใกล้ชายแดนประเทศลาว ซึ่งครูจิตราบอกว่าชอบและประทับใจมาก มีครูคนหนึ่งที่นั่นบอกกับครูจิตราว่า ถ้าเดินข้ามภูเขาหน้าโรงเรียนนั้นลงไปก็จะเข้าเขตแดนประเทศลาว แล้วพอเดินต่อไปอีกหนึ่งวันก็จะข้ามแม่น้ำโขง จากนั้นเดินเท้าอีกครึ่งวันก็จะเข้าเขตเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงพระบางนั้นสวยสงบยิ่งนัก จนอีกหลายปีต่อมาในยุครัฐบาลที่มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เข้ามาบริหารประเทศ และมีการเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวในระหว่างสองประเทศนี้ได้อย่างสะดวก ครูจิตราจึงได้มีโอกาสนั่งรถยนต์ไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง และเห็นว่าเป็นเมืองที่ “สวยสงบ” จริง ๆ
บนโรงเรียนที่ชายแดนไทยลาวแห่งนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่เครื่องปั่นไฟที่ใช้งานเป็นบางช่วงในตอนหัวค่ำของแต่ละวัน การเดินทางต้องจอดรถที่หมู่บ้านตรงเชิงเขา(ที่ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นกัน)แล้วเดินเท้าขึ้นมาอีก ๓ กิโลเมตร ซึ่งถ้าคนที่แข็งแรง ๆ และใช้เส้นทางนี้เป็นประจำก็จะใช้เวลาสักชั่วโมงหนึ่ง แต่สำหรับคนทั่วไปและผู้หญิงจากเมืองกรุงอย่างครูจิตรานั้นต้องใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง ดังนั้นครูจิตราและครูคนอื่น ๆ จึงไม่ค่อยได้เดินลงมาจากโรงเรียนบ่อย ๆ นาน ๆ ทีเมื่อมีธุระอยากเข้าเมือง เช่น ไปถ่ายรูปหรือไปรับเอกสารสำคัญ จึงจะลงไปสักนาน ๆ ครั้ง ส่วนเงินเดือนนั้นครูใหญ่จะเป็นคนลงไปกับครูผู้ชายคนหนึ่ง ไปให้ผู้ใหญ่บ้านที่มีรถกระบะพาขับรถเข้าไปในอำเภอ ที่ใช้เวลาขับรถราว 3 ชั่วโมง บนระยะทาง 40 กว่ากิโลเมตร ที่แสดงถึงความวิบากของเส้นทางนั้นเป็นอย่างยิ่ง การไปอำเภอในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลาในการไปและกลับถึงหนึ่งวันเต็ม ๆ คือเดินลงจากโรงเรียนในตอนเช้ามืด แล้วก็กลับถึงโรงเรียน(ถ้าไม่เจออุบัติเหตุอะไร)ก็ในตอนฟ้ามืดพอดี
สิ่งที่น่าสนใจในโรงเรียนบนเขาแห่งนั้นก็คือ “ชาวเขา” ทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ที่คนไทยเรียกอยากเคยปากว่า “แม้ว” ส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศลาว ระหว่างสงครามชายแดนไทยลาวในช่วง พ.ศ. 2523 - 2526 ซึ่งพอสงครามจบม้งเหล่านั้นก็ไม่ยอมกลับไปที่ฝั่งลาว ทางการไทยจึงจัดที่อยูและที่ทำกินให้ ช่วงที่ครูจิตราไปทำงานก็เป็นช่วงที่สงครามเพิ่งสงบใหม่ ๆ และทางประเทศในยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเขาและผู้อพยพอื่น ๆ ในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงที่มีองค์กรการกุศลได้เข้ามาให้การช่วยเหลือด้วยการตั้งโรงเรียนสอนลูกหลานชาวเขาที่อพยพมานั้นด้วย ครูจิตราและเพื่อนครูคนอื่น ๆ อีก 5 คน จึงเหมือนเป็นกลุ่มบุกเบิกและมาเริ่มให้การสงเคราะห์แก่ชาวเขาและชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้
ครูจิตราเคยเดินทางไปเยี่ยมบ้านนักเรียนชาวเขาหลายคน ส่วนใหญ่ก็จะมีบ้านพักอยู่ห่างออกไปจากโรงเรียนพอสมควร เพราะต้องไปปลูกอยู่ในไร่ที่กระจัดกระจายไปตามหุบเขา บ้านแต่ละหลังปลูกอย่างลำลอง มีเสาไม้ขนาดสักต้นขาคน สูงราว 2 เมตร ปักห่างกันต้นละหนึ่งช่วงแขน ด้านข้างซ้ายขวามีเสาด้านละสามต้น ด้านหน้าและหลังมีเสาแทรกไว้อีก 2 ต้น กะขนาดคร่าว ๆ คงกว้างยาวประมาณ 4 คูณ 6 เมตร ทุกด้านล้อมด้วยแผงไม้ไผ่ที่อัดใบไม้แห้งใบใหญ่ ๆ (คนแถวนั้นเรียกว่าใบตองตึง) เช่นเดียวกันกับบนหลังคาก็คลุมไว้ด้วยวัสดุอย่างเดียวกัน รวมถึงประตูด้านหน้าที่วงกบทำจากไม้เนื้อแข็ง แล้วแปะไว้ด้วยแผงไม้ไผ่อัดใบไม้นั้นเช่นกัน พอเปิดประตูเข้าไปอาจจะดูมืดทึบ แต่ก็มีแสงเล็ดลอดเข้ามาตามข้างฝานั้นอยู่บ้าง โดยข้างในจะมีแคร่ไม้ไผ่วางตามแนวยาวของห้อง สูงเหนือเข่าเล็กน้อย ตรงพื้นด้านหน้าแคร่ในมุมหนึ่งของห้องจะเป็นครัวและบริเวณที่เก็บข้าวของที่ใช้ทำอาหาร รวมถึงเป็นที่จุดไฟแก้หนาวในตอนกลางคืนนั้นด้วย
บนแคร่นั้นมีที่นอนกองไว้เป็นกลุ่ม ๆ ตามจำนวนคนในบ้าน ซึ่งหลังเล็ก ๆ ขนาดนี้สามารถนอนได้ถึง 5-6 คน บนหัวนอนตรงกลางบ้านที่อยู่ตรงข้ามประตูทางเข้า จะมีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถแขวนไว้ทุกหลัง ทราบจากผู้ใหญ่บ้านว่าทางอำเภอให้เอาติดไว้ในบ้านทุกหลัง โดยชี้แจงกับชาวเขาเหล่านี้ว่า เป็นรูปของคนที่ช่วยให้พวกเขาทั้งหลาย “มีที่อยู่ที่กิน” และคนไทยทุกคนก็ต้องมีรูปของ 2 พระองค์นี้ติดไว้ในบ้านทุกหลังเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นทางอำเภอยังให้บอกแก่ชาวเขาอีกด้วยว่า ห้ามเคลื่อนย้ายที่ปลูกพืชไร่ที่ทางการได้จัดสรรให้คนละ 4-5 ไร่นั้น (ชาวเขาชอบทำไร่เลื่อนลอย คือพอเก็บเกี่ยวแล้วก็จะย้ายที่ปลูกไปที่อื่น ๆ โดยการเผาป่าและถางต้นไม้เอาพื้นที่มาเปลี่ยนที่ปลูกไปเรื่อย ๆ) เพราะเดี๋ยวจะ “ผิดผี” คือทำให้เจ้าที่เจ้าทางโกรธและทำมาหากินไม่ดี รวมถึงที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากทางการของไทยอีกต่อไป
ลูกหลานชาวเขาเหล่านี้น่าสงสารมาก ๆ ไม่ใช่เพราะความยากจนข้นแค้นในสภาพสาหัสอย่างที่เห็น แต่เป็นความน่าสงสารจากการที่คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะ “ไร้บ้าน” (ที่รวมถึงบ้านเกิดเมืองนอน) แต่ยัง “ไร้อนาคต” คือไม่รู้ว่าชีวิตในวันข้างหน้าจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรนั้นด้วยต่างหาก