เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 เมษายน ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.นครราชสีมา รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อร้ายแรงในพื้นที่ 32 อำเภอ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,260 ราย ป่วยสะสม 131,093 ราย รักษาอยู่ 34,442 ราย รักษาหาย 96,470 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 11 ราย เป็นหญิงอายุ 16 ปี ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง มีโรคประจำตัวมะเร็งในสมอง ประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม ชายอายุ 71 ปี ต.หนองตาดใหญ่ อ.สีดา โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เก๊าท์ ประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม หญิงอายุ 80 ปี ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมัน หลอดเลือดสมอง รับวัคซีน 2 เข็ม หญิงอายุ 61 ปี ต.มะเริง อ.เมือง โรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด ไม่ได้ฉีดวัคซีน ชายอายุ 98 ปี ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไม่ได้รับวัคซีน หญิงอายุ 73 ปี ต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญมาก โรคประจำตัวความดันโลหิต เบาหวาน หอบหืด ไม่ได้รับวัคซีน หญิงอายุ 71 ปี ต.โนนรัง อ.ชุมพวง โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน โลหิตจาง ไม่ได้รับวัคซีน ชายอายุ 71 ปี ต.ช่อระกา อ.บ้านเหลื่อม โรคประจำตัวหลอดเลือดในสมอง ไม่ได้รับวัคซีน ชายอายุ 76 ปี ต.โนนแดง อ.โนนแดง ประวัติเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูง ไม่ได้รับวัคซีน หญิงอายุ 72 ปี โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไม่ได้รับวัคซีน และชายอายุ 91 ปี ต.ปรางค์ อ.คง โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไม่ได้รับวัคซีน เสียชีวิตสะสม 181 ในขณะเดียวกัน บุคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา พร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคพื้นที่ อ.เมือง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยางใหญ่ ร่วมลงพื้นที่เพื่อดำเนินการควบคุม กำกับ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของคลัสเตอร์ศูนย์ผู้สูงอายุนครราชสีมา รีสอร์ท (ในเครือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกรุงเทพ) บ้านโกรกเดือนห้า หมู่ 7 ต.สุรนารี อ.เมือง จากการสอบสวนโรคพบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้เดินทางไป จ.สุโขทัย และ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้นำเชื้อมาแพร่ให้เพื่อนร่วมงานเป็นเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 3 ราย และผู้สูงอายุ 6 ราย ป่วยสะสม 9 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรการสาธารณสุขจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ กำหนดระยะเฝ้าระวังตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ดังนี้ 1.ให้ติดตามอาการผู้ป่วยที่รักษาระบบ HI ในศูนย์ผู้สูงอายุและอาการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยส่งรายงานผ่านไลน์กลุ่มทุกวัน 2.ให้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ตรวจ ATK 100 % กลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้สูงอายุทุก 3 วัน จนครบระยะเฝ้าระวัง 3.ให้เตรียมพร้อมการส่งต่อผู้ป่วยและประสานโรงพยาบาลตามสิทธิ์ของผู้สูงอายุในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินต้องส่งต่อการรักษา 4.ให้มีมาตรการกักตัวและเฝ้าระวังกรณีเดินทางไปต่างจังหวัดหรือร่วมกิจกรรมก่อนกลับมาปฏิบัติงาน 5.ให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและขณะปฏิบัติงานให้สวมถุงมือและ Face shield งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม 6.ให้เพิ่มถังขยะติดเชื้อเป็นถังขยะชนิดเท้าเหยียบ ใส่ถุงสีแดงและมีฝาปิดมิดชิด 7.โรงพักขยะติดเชื้อให้เพิ่มถังขยะติดเชื้อที่มีฝาปิดมิดชิดและกำหนดวันให้บริษัทมารับขยะติดเชื้อ เพื่อไปทำลายให้ชัดเจน 8. ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดในห้องพักผู้สูงอายุ 9.เพิ่มพัดลมดูดอากาศ ภายในห้องครัวและปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามศูนย์ดังกล่าวเป็นสถานที่ให้การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นการติดเชื้อรอบสอง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่เดินทางออกนอกพื้นที่แล้วไม่เฝ้าระวังตนเองได้นำเชื้อมาแพร่ให้มีผู้ป่วยสะสม 16 ราย เป็นผู้สูงอายุ 9 ราย และเจ้าหน้าที่ 7 ราย จึงได้กำชับให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต้องมีความตระหนัก โดยกำหนดบทลงโทษตามกฎหมาย หากปล่อยปละละเลยและไม่ได้ปฏิบัติตาม