นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.65 ว่า หลักการราคาส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นกรอบเพดานใหม่ และส่วนที่เกินจากกรอบเพดานใหม่จะสามารถอุดหนุนให้ต่ำกว่าเพดาน ส่วนราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไรนั้น ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานไปพิจารณา ราคาอาจจะน้อยกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดขึ้นไว้ก็ได้ เช่น อาจจะขยับจาก 30 บาทเป็น 32 บาทต่อลิตร หลังจากจากนั้นจะค่อยๆ ทยอยขึ้นราคา ซึ่งตามมติ ครม.นั้น จะขยับราคาแบบคนละครึ่ง คือ ขึ้นราคาครึ่งหนึ่งในส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
"ราคาดีเซลหากจะขึ้นวันนี้จะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร คือ 10 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะไปขึ้นทันที ไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ ให้ปลัดพลังงานไปดูว่ากรอบที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตรก็ได้ ค่อย ๆ ขึ้นไป"
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามค่าขนส่ง บริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสูตรการปรับราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย ในยามนี้ วิกฤติแบบนี้ ราคาสินค้าสูงขึ้น สิ่งที่ทำได้ คือทุกฝ่ายต้องประหยัด พึ่งพาตัวเอง ลดการใช้ในสิ่งที่สิ้นเปลือง โดยรัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชน ออก 10 มาตรการในการช่วยเหลือค่าครองชีพไปแล้ว เช่น ลดค่าใช้ไฟฟ้า ลดส่งเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตน ในขณะเดียวกันได้หารือกับเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ภาคเอกชนก็ต้องร่วมบริหารลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประชาชน เพราะต้องช่วยเหลือกัน เพื่อผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปด้วย ซึ่งเป็นวิกฤติที่แตกต่างจากกรณีโควิด-19 เพราะสินค้าขึ้นทุกอย่าง
"ได้หารือกับเอกชนคุยกันว่า หากลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในสินค้าที่แพง อะไรที่ใช้ในประเทศได้ก็ใช้ในประเทศ ถ้าภาคอุตสาหกรรมช่วยกันเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อประหยัดต้นทุนได้ ไม่ส่งต้นทุนที่สูงทั้งหมดกลับมาที่ประชาชน ประชาชนก็ประหยัดในส่วนสินค้านำเข้า แล้วไปใช้สินค้าในประเทศ ก็จะช่วยเหลือกันไปช่วยเหลือกันมา รัฐบาลก็ไม่ได้หยุดช่วยเหลือ ก็มีมาตรการ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"
