วันที่ 26 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 353,449 คน ตายเพิ่ม 1,627 คน รวมแล้วติดไปรวม 509,845,095 คน เสียชีวิตรวม 6,244,616 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.07 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.28 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 32.02 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 26.61 ...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 28.63% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย ...สถิติของไทย หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK เท่าที่ติดตามข้อมูลมา ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 39 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 มาต่อเนื่อง 10 วัน ...ย้ำเตือนเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น (Endemic diseases) "Endemic doesn't mean harmless" โรคประจำถิ่น ไม่ควรนำมาใช้ทำแคมเปญให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าเป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป โรคประจำถิ่นนั้น โดยแท้จริงแล้วหมายถึงโรคที่ถูกระบุว่า พบได้บ่อยหากใครจะเดินทางไปยังพื้นที่นั้น ดินแดนนั้น ประเทศนั้น โรคประจำถิ่นนั้น จะถูกใช้เมื่อเจอโรคนั้นอย่างเป็นประจำในถิ่นนั้น โดยรู้ว่ามีอัตราการติดเชื้อเพียงใดในลักษณะที่คงที่ โดยอาจมากขึ้นน้อยลงตามฤดูกาลได้ และสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคได้ดีในระดับหนึ่งเพื่อวางแผนจัดการรับมือ มิให้เกิดการระบาดจนเกินควบคุม ทั้งนี้การจะจัดการโรคประจำถิ่นได้ดีนั้นยัง"จำเป็น"ต้องมียาที่ใช้ในการรักษาและวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้พึ่งพา"ยาผีบอก หรือพืชผักสมุนไพร" ที่คิดเอาเองว่าได้ผลโดยไม่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญที่สุดคือ โรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้แปลว่า"ไม่อันตราย" ไม่ได้แปลว่า"อ่อน กระจอก ธรรมดา ไม่รุนแรง" หลายโรคที่เป็นโรคประจำถิ่นในบางทวีป บางประเทศ เช่น ไข้เหลือง อีโบล่า ฯลฯ ที่พบมากในแอฟริกา ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่โรคที่เราคุ้นเคยกันเช่น วัณโรค มาลาเรีย ก็พบว่าเป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่เป็นแล้วรุนแรง เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากทำความเข้าใจเรื่องโรคประจำถิ่น และติดตามความเป็นไปในเครือข่ายสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าโควิด-19 จะกลายเป็นหวัดธรรมดา กระจอก ประจำถิ่น โดยไม่ต้องกังวลหรือป้องกันตัว ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ในภาพรวมเรามีจำนวนการติดเชื้อมาก และมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ดังนั้นคนที่จะเดินทางมา ก็ย่อมตระหนักดีว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ประเทศที่มีโอกาสติดเชื้อสูง แปลแบบบ้านๆ คือ "แดนดงโรค หรือถิ่นที่มีโรคนั้นชุกชุม" หรือ "endemic area" คำว่า "โรคประจำถิ่น" จึงไม่มีความหมายสำคัญไปกว่าที่อธิบายมาข้างต้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การระบาดบรรเทาเบาบางลงกว่าที่เป็นมา การป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ คือคำตอบสุดท้ายที่จะไขปัญหานี้ได้ มิใช่การพึ่งวัคซีนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว เพราะวัคซีนนั้นหวังผลในแง่การลดความเสี่ยงการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต การคิดและผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ในทุกมิติของสังคม เพื่อทำให้คนป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นมาคือสิ่งที่จำเป็น ...ใส่หน้ากากนะครับ นี่คือหัวใจสำคัญที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคุณและสมาชิกในครอบครัว ปัญหาไม่ใช่แบบคิดตื้นๆ ว่า ติดเชื้อแล้วแป๊บเดียวก็หาย แต่โชคร้ายอาจเสียชีวิต แม้จะได้รับวัคซีนมาแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น โชคร้ายที่สุดคือการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ซึ่งเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการเลย มีอาการน้อย หรือมีอาการมาก ก็ล้วนเกิดได้ทั้งสิ้น และจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต เป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาว ใช้ชีวิต ทำงาน เรียนหนังสือ ทำมาค้าขาย อย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ จะลดความเสี่ยงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ด้วยความหวังดี