นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบยีสต์ชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด จากเห็ดป่าในประเทศไทย นับเป็นทรัพยากรจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร นำมาต่อยอดเศรษฐกิจฐานชีวภาพและการเกษตรให้แก่ประเทศ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง และ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบยีสต์ชนิดใหม่ของโลก จากเห็ดป่าในประเทศไทย 2 ชนิด คือ Metahyphopichia suwanaadthiae และ Wickerhamiella nakhonpathomensis การค้นพบยีสต์ชนิดใหม่นี้สนับสนุนว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยีสต์ที่พบในประเทศไทยเหล่านี้เป็นทรัพยากรจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและอาหาร นำไปสู่การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและส่งเสริมเกษตรกรไทย และยังนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับงานวิจัยในระดับอุตสาหกรรมที่สามารถผลักดันให้ประเทศชาติเข้าสู่การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจฐานชีวภาพและการเกษตรได้ ยีสต์ชนิดใหม่ของโลกชนิดที่ 1 Metahyphopichia suwanaadthiae ค้นพบจากเห็ดป่าที่เก็บในอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ (สายพันธุ์ DMKU-MRY16, DMKU-SK18, DMKU-SK25, DMKU-SK30 และ DMKU-SK32), ขุยแมลงจากอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ (สายพันธุ์ ST-224) และดินจากอำเภอเมือง จังหวัดระยอง (สายพันธุ์ 11-14.2) ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของยีสต์ชนิดใหม่นี้ว่า “Metahyphopichia suwanaadthiae” เพื่อให้เกียรติแด่ ดร.มาลี สุวรรณอัตถ์ ผู้ที่ให้ความสนับสนุนการวิจัยด้านอนุกรมวิธาน ความหลากหลาย และเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์รวมทั้งยีสต์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา คณะวิจัยที่ค้นพบ ได้แก่ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง และ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ดร.ศธิธร จินดามรกฏ นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ ดร.อัญชริดา สวารชร อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นพบยีสต์ชนิดใหม่ของโลก Metahyphopichia suwanaadthiae 5 สายพันธุ์ จากเห็ดป่าในจังหวัดศรีสะเกษ ขุยแมลงในจังหวัดอำนาจเจริญ และดินในจังหวัดระยอง ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นนักวิจัยภายใต้โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย เมธีวิจัยอาวุโส ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพยีสต์ (RTA608004)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และโครงการ “เหมืองข้อมูลและคลังทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร (FF(KU) 18.64)” โดยมี รศ.ดร.นันทนา สีสุข ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และ ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง เป็นที่ปรึกษาโครงการ โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2564 ผ่านทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการวิจัยทั้งสองโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างกลุ่มวิจัยที่มีศักยภาพ และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร การค้นพบยีสต์สกุลและชนิดใหม่ Metahyphopichia suwanaadthiae ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ได้ศึกษาความหลากหลายของยีสต์ที่มีความสัมพันธ์กับเห็ดป่า และนำยีสต์ที่แยกได้มาค้นหาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทีมนักวิจัยแยกได้ยีสต์จำนวนมากเมื่อนำมาระบุชนิดโดยอนุกรมวิธานระดับโมเลกุล ด้วยการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์ พบว่ามียีสต์ 5 สายพันธุ์ (DMKU-MRY16, DMKU-SK18, DMKU-SK25, DMKU-SK30 และ DMKU-SK32) มีลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์เหมือนกับยีสต์สายพันธุ์ ST-224 ซึ่งแยกโดย ดร.ศธิธร จินดามรกฏ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสายพันธุ์ 11-14.2 ซึ่งแยกโดย ศาสตราจารย์ ดร.อัญชริดา สวารชร อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยีสต์ทั้ง 7 สายพันธุ์ มีลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์ไม่ตรงกับของยีสต์ชนิดใด ๆ ที่รู้จักแล้วทั่วโลก เมื่อนำยีสต์ทั้ง 7 สายพันธุ์ มาศึกษาเพิ่มเติมตามหลักการของอนุกรมวิธานฟอลิฟลาสิก (polyphasic taxonomy) ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาลักษณะของรูปร่าง ชีวเคมี และสรีวิทยา และทำการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนบางยีนเพิ่มเติม พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของยีสต์ที่ค้นพบร่วมกับยีสต์ชนิดที่รู้จักแล้วที่ใกล้เคียง สรุปได้ว่ายีสต์ทั้ง 7 สายพันธุ์ เป็นยีสต์ชนิดเดียวกัน และเป็นชนิดใหม่ จึงตั้งชื่อว่า Metahyphopichia suwanaadthiae ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์การค้นพบยีสต์ชนิดใหม่นี้ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ International Journal of Systematic and Evolutionary Microbiology เมื่อเดือน มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ข้อมูลอ้างอิง Khunnamwong, P., Savarajara, A., Jindamorakot, S. and Limtong, S. (2022). Description of Metahyphopichia suwanaadthiae sp. nov., an anamorphic yeast species in the order Saccharomycetales and reassignment of Candida silvanorum to the genus Metahyphopichia. Int J Syst Evol Microbiol. 72:005183. doi: 10.1099/ijsem.0.005183 ยีสต์ชนิดใหม่ของโลกชนิดที่ 2 Wickerhamiella nakhonpathomensis sp. nov. ค้นพบจากเห็ดเก็บจากอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (สายพันธุ์ SU22) และจากดอกกาแฟอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (สายพันธุ์ FLA11.5) ทีมนักวิจัยจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของยีสต์ชนิดใหม่ว่า“Wickerhamiella nakhonpathomensis” เพื่อต้องการบ่งบอกว่ายีสต์ชนิดใหม่นี้ค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย คณะวิจัยที่ค้นพบ ได้แก่ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง และ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ผศ.ดร.กนกวรรณ กิ่งผดุง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.ธนศักดิ์ ล้อมทอง สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ดร.อภินันท์ กันเปียงใจ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ชาติชาย โขนงนุช สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบยีสต์ชนิดใหม่ของโลก Wickerhamiella nakhonpathomensis จากเห็ดเก็บจากจังหวัดนครปฐม และดอกกาแฟ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นนักวิจัยภายใต้โครงการ “เหมืองข้อมูลและคลังทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร (FF(KU) 18.64)” โดยมี รศ. ดร.นันทนา สีสุข ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และ ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง เป็นที่ปรึกษาโครงการ โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2564 ผ่านทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอาหาร การค้นพบยีสต์สกุลและชนิดใหม่ Wickerhamiella nakhonpathomensis sp. nov. ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ศึกษาความหลากหลายของยีสต์จากเห็ดป่าและนำยีสต์ที่แยกได้มาค้นหาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทีมนักวิจัยนำยีสต์ที่แยกได้จากเห็ดป่ามาระบุชนิดโดยอนุกรมวิธานระดับโมเลกุลด้วยการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์ พบว่ายีสต์สายพันธุ์ SU22 มีลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์เหมือนกับยีสต์สายพันธุ์ FLA11.5 ซึ่งแยกโดย ดร.อภินันท์ กันเปียงใจ และ รศ. ดร. ชาติชาย โขนงนุช ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยยีสต์ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ มีลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนสำหรับการจำแนกยีสต์ไม่ตรงกับของยีสต์ชนิดใด ๆ ที่รู้จักแล้วทั่วโลก เมื่อนำยีสต์ทั้ง 2 สายพันธุ์ มาศึกษาเพิ่มเติมตามหลักการของอนุกรมวิธานฟอลิฟลาสิก (polyphasic taxonomy) ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาลักษณะของรูปร่าง ชีวเคมี และ สรีวิทยา และทำการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนบางยีนเพิ่มเติม พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของยีสต์ที่ค้นพบร่วมกับยีสต์ชนิดซึ่งรู้จักแล้วที่ใกล้เคียง สรุปได้ว่ายีสต์ทั้ง 2 สายพันธุ์ เป็นยีสต์ชนิดเดียวกัน และยีสต์ชนิดใหม่ จึงตั้งชื่อว่า Wickerhamiella nakhonpathomensis โดยการค้นพบยีสต์ชนิดใหม่นี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ International Journal of Systematic and Evolutionary Microbiology เมื่อเดือน มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ข้อมูลอ้างอิง Khunnamwong, P., Kingphadung, K. Lomthong, T., Kanpiengjai, A., Khanongnuch, C. and Limtong, S. (2022). Wickerhamiella nakhonpathomensis f.a. sp. nov., a novel ascomycetous yeast species isolated from a mushroom and a flower in Thailand. Int J Syst Evol Microbiol. 72: 72:005191.doi: 10.1099/ijsem.0.005191. จากการค้นพบยีสต์ชนิดใหม่ในครั้งนี้สนับสนุนว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยีสต์ที่พบในประเทศไทยเหล่านี้เป็นทรัพยากรจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและอาหาร และข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนั้นการเก็บรักษาเชื้อยีสต์เหล่านี้ไว้ในคลังทรัพยากรจุลินทรีย์ ก็จะเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยนำไปศึกษาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไป การวิจัยนี้ จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญของนักวิจัยที่จะมีโอกาสได้ค้นพบยีสต์ที่มีศักยภาพที่จะนำมาต่อยอดในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและส่งเสริมเกษตรกรไทย และนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับงานวิจัยในระดับอุตสาหกรรมที่สามารถผลักดันให้ประเทศชาติเข้าสู่การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจฐานชีวภาพและการเกษตรได้