นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโรคระบาดและภัยสงคราม จึงได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนการผลิตแก่นายจ้าง โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตราทั้งมาตรา 33,39 และ 40 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินประมาณ 34,540 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมาตรการลดเงินสมทบในครั้งนี้ทำให้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 - 360 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนนายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท “ผมจึงวิงวอนและขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่พี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนแก่นายจ้างจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ เพื่อให้เราทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน”