วันที่ 23 เมษายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด19 ของประเทศไทยยังทรงตัว ติดเชื้อประมาณวันละ 2 หมื่นราย หลังเทศกาลสงกรานต์ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อต่ออีก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยมีระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน หรือ "เจอ แจก จบ" ซึ่งสามารถรับบริการได้ในสถานพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการของ สปสช. อีกทั้งยังสามารถติดต่อเพื่อขอเข้าระบบ Home Isolation ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องลดผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงที่จะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตลงให้มีน้อยที่สุด โดยเร่งรณรงค์ให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนโควิด19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดย นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการติดเชื้ออาการรุนแรง ได้เตรียมความพร้อมรองรับ 3 พอ คือ 1. เตียงพอ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน ทำให้มีอัตราครองเตียงสีเหลืองและสีแดงในโรงพยาบาลประมาณ 30% และหากจังหวัดใดเริ่มมีอัตราครองเตียงสูงเกิน 50% จะมีการขยายเตียงรองรับเพิ่มขึ้น 2. ยาพอ โดยมีทั้งยารักษาตามอาการ ยาฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัสต่างๆ คือ ฟาวิพิราเวียร์, เรมดิซิเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส บางส่วนหายเองได้ การใช้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย 3. หมอพอ มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมให้การดูแลรักษา สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกสามารถฉีดได้ประมาณ 56 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 85% เหลือผู้ที่ยังไม่มารับการฉีดวัคซีน 9-10 ล้านคน ต้องเร่งรณรงค์ให้มารับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 39.7% ซึ่งไม่ถือว่าน้อยเพราะส่วนหนึ่งยังไม่ถึงกำหนดเข้ารับเข็มกระตุ้น โดยคนที่ถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นและได้รับการฉีดแล้วอยู่ที่ประมาณ 70%