วันที่ 22 เม.ย.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ... งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์มาจากทีม Oxford ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากตัวอย่างประมาณหมื่นคน ที่ฉีดวัคซีน และ ติดโควิด เพื่อหาตัวเลขความเสี่ยงของอาการต่างๆ ตลอดจน ความเสี่ยงของการป่วยหนักจากโควิด-19 ที่เป็นผลจากวัคซีน 1 เข็ม หรือ 2 เข็ม เทียบกับ กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าความเสี่ยงไม่แตกต่างระหว่างกลุ่ม ค่าของ Hazard ratio (HR) จะเท่ากับ 1.0 แต่ถ้า วัคซีนลดความเสี่ยงลง ค่า HR จะน้อยกว่า 1.0 ซึ่งจะเห็นว่า ค่า HR ของ Death, ICU admission หรือ Respiratory failure ลดลงชัดเจนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่จากข้อมูลชุดนี้คือ อาการ Long COVID ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงที่ไม่ลดลงเท่าไหร่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน เทียบกับ ไม่ได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้เปลี่ยนแนวคิดว่า อาการ Long COVID สามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน ติดไปก็ไม่เป็นอะไร อาจจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่ วิธีป้องกันอาการ Long COVID ที่ดีที่สุดยังคงเป็นการไม่ทำให้ตัวเองติดเชื้อครับ