ททท. เล็งส่งเสริมการจัดอีเวนต์และเทศกาลใหญ่ ขยายผลจากความสำเร็จของมาตรการ New Normal ที่เน้นความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมดึงผลการศึกษาการจัดกิจกรรมในต่างประเทศด้วยโมลเดลสายกรีนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทาง
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19 ทาง ททท. ได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและอนามัยของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทรนด์การท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New Normal) ที่นอกจากจะเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยแล้ว ยังมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของชุมชนรอบด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญในการยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างมิติการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีการบูรณาการทุกภาคส่วนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา ททท.ได้จัดกิจกรรมที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใตต้มาตรฐานการจัดงานแบบ New normal โดยผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ งาน Amazing Thailand Countdown 2022 - Amazing New Chapters ใน 5 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่มีการใช้พลุผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อสะเก็ดพลุตกลงสู่ทะเล จะเป็นอาหารปลาและสัตว์น้ำได้ สอดคล้องกับแผน BCG ของรัฐบาล
รวมทั้งงานมากินกัญ เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติในการจัดกิจกรรม อาทิ ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดทำเมนูอาหาร โดยใช้วัตถุดิบในครัวเรือน เพื่อลดการทิ้งวัตถุดิบเหลือใช้ งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 ใช้วัสดุธรรมชาติในการจัดกิจกรรม อาทิ ใบตอง จานกระดาษ ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงใช้ QR Code เพื่อสแกนข้อมูลกิจกรรม และการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ลดการใช้กระดาษ ส่งของที่ระลึกไปให้ผู้ร่วมเล่นเกมส์ถึงที่บ้านลดการมารวมตัวมารับของภายในงาน หรือ การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวต้นแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งประสบความเสร็จเป็นอย่างดี และตอบโจทย์การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Footprint) ภายใต้กิจกรรม Care the Bear ที่ททท. นำมาใช้เป็นหมุดหมายหนึ่งในการวัดความสำเร็จของแต่ละอีเวนต์
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและการเปิดเสรีด้านการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรม เทศกาลต่าง ๆ มากขึ้น ททท. จึงเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมและเทศกาลต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ควบคู่มาตรฐาน New Normal โดยศึกษาการจัดงานเทศกาลในต่างประเทศ โดยพบว่าเทรนด์การจัดงานที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใส่ใจชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำนึงผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบด้านทั้งในเรื่องของอาคารสถานที่ การคมนาคมขนส่ง การใช้พลังงาน มลภาวะ ขยะ ฯลฯ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
โดย นายอภิชัย กล่าวว่า เทรนด์จัดงานภายใต้แนวคิด Sustainability Management ในต่างประเทศ จะเห็นได้จากเทศกาลดนตรีหลาย ๆ งาน อาทิ การส่งเสริมเทรนด์การเดินทางมาร่วมงานให้กับรถที่มีเพื่อนร่วมทาง 4 คนขึ้นไปสามารถลุ้นรับรางวัลตั๋วฟรี หรืออัพเกรดเป็น ตั๋ว VIP ของแคมเปญ Carpoolchella ในงาน Coachella เทศกาลดนตรีและศิลปะที่โด่งดังของแคลิฟอร์เนีย ให้บริการจอดรถจักรยานฟรีและมีระบบแชร์จักรยาน ของเทศกาล Lollapalooza ในชิคาโก การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ (Reduce, Reuse, Recycle) ของเทศกาล Bonnaroo Music and Arts Festival รัฐเทนเนสซี ที่ผู้จัดงานเปลี่ยนขยะและของเสียจากพลาสติกกว่า 351 ตันกลับมาใช้ใหม่ เทศกาล Shambala Festival ประเทศอังกฤษ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% และเทศกาล NorthSide @ Aarhus มีจุดเด่นคือ ไม่มีที่จอดรถ เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ มีเจ้าหน้าที่ Trash Talkers คอยคัดแยกขยะในงาน และให้บริการอาหารที่เป็น Organic 100%
ขณะที่การดำเนินการของผู้จัดงานถือว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม โดยหลาย ๆ งานผู้จัดงานได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างจุดเด่นด้านการอนุรักษ์ พยายามลดผลกระทบที่ตามมา ด้วยการวางแผนการจัดงานอย่างบูรณาการ พิจารณาถึงค่านิยมและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดผลกระทบด้านลบ และดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยผู้จัดงานในประเทศไทยสามารถดึงเอาตัวอย่างของงานที่ประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลายมาปรับใช้ในการจัดงานในประเทศไทยในหลาย ๆ มิติ อาทิ การเลือกจัดงานในสถานที่ที่เข้าถึงง่ายด้วยขนส่งสาธารณะเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการบริหารจัดการขยะและของเสียจากพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว เพื่อสร้างโมเดลการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน