มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะมีการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชน อาจส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับการดูแลในระบบสาธารณสุข นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยช่วงหลังสงกรานต์ ด้วยความเป็นห่วงช่วงหลังสงกรานต์ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ทั้งประเทศไม่เฉพาะกรุงเทพมหานครเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทางเคลื่อนย้าย ไปพบปะสังสรรค์กัน และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ในปีนี้ จึงได้เตือนให้ประชาชนระมัดระวังตลอดเวลา ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่สาธารณสุขกำหนด จะสามารถควบคุมโรคได้ จำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอันตรายร้ายแรงน้อยลง แต่หากมีคนติดกันมากๆ กลุ่มที่เราห่วงมากสุดเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะไปติดเชื้อ คือกลุ่ม 608 หากติเชื้ออาจเกิดอาการรุนแรง ส่วผลถึงจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอาจสูงตามไปด้วย จำจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ซึ่งตอนนี้มีไม่มาก เมื่อเทียบกีบช่วงการระบาดสูงในปีที่ผ่านมา ปีนี้แม้จะมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือป่วยเล็กน้อย ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่าช่วยหายใจมีไม่มาก “ทั้งนี้ย้ำว่าศักภาพการรองรับผู้ป่วยช่วงหลังสงกรานต์ กทม. ได้บูรณาการโรงพยาบาลในพื้นที่ทุกสังกัด ทั้งโรงพยาบาลกทม. โรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน มีศักยภาพเตียงเพียงพอรับได้ ในส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีเหลือง ก็มี CI ที่เตรียมไว้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนประชาชนที่จะกักตัวอยู่บ้านก็ทำได้ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลจากบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้ ในส่วนอัตราครองเตียงของโรงพยาบาลสังกัดกทม. มีการแบ่งส่วนที่รับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ ผู้ป่วยปกติสามารถรักษาหรือผ่าตัดได้ปกติ” หลายคนอาจจะกังวลถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงขอย้ำว่ายังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการ ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้ารับการรักษาได้ฟรี ในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) Hospitel หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน , ผู้ป่วยสีเหลือง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP พลัส ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน , ผู้ป่วยสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค หายใจเจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชม. ค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94% กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ และรักษาฟรีกับ UCEP พลัส ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถติดต่อ ศูนย์เอราวัณ 1669 สปสช.1330 กด14 กรม สบส.1426 UCEP พลัส 0-2872-1669 ส่วนการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก และสำรวจผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เข็มกระตุ้น ให้เข้ารับบริการ ณ จุดฉีดต่างๆ ทั้งในและนอกโรงพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน ให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า จองผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” และเปิด Walk in ทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัดกทม. อย่างต่อเนื่อง โดยยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้สูงอายุในพื้นที่กทม.ขณะนี้ ฉีดเข็มที่ 3 แล้วเกือบ 70% อีกกว่า 30% ส่วนหนึ่งติดเชื้อไปแล้ว ต้องรอเวลาอีก 3 เดือน อีกส่วนคือ ยังกลัวไม่มั่นใจในวัคซีน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ไปทำความเข้าใจแล้ว และที่เหลือยังไม่ครบเวลาฉีด อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการเชิงรุกดังกล่าวนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.- 29 เม.ย. 65 ซึ่งจากสถิติการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 2,837,211 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย. 65) โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร และชมรมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงจะไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้ 100% แต่หากติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถลดอาการหนัก หรือลดการเสียชีวิต จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเอง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ลงชุมชนในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับกลุ่มผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง