เงินเฟ้อและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
หนึ่งในเป้าหมายของ ธปท.คือ ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ผันผวน โดยตามเป้าหมายที่ตั้งร่วมกับรัฐบาล ธปท. ต้องรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3%
เงินเฟ้อคืออะไร
เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้า (เช่น อาหาร เสื้อผ้า ) และบริการ (เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล) เพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป
โดยทั่วไปเราจะวัดเงินเฟ้อโดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า สำหรับค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% ตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว และราคาเพิ่มเป็น 103 บาทในปีนี้ แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%
อัตราเงินเฟ้อวัดได้อย่างไร
ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท.ใช้เป็นเป้าหมาย
รัฐบาลและ ธปท. ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%
เพื่อรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ผันผวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% โดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนนี้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้
เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงหรือผันผวน สร้างความลำบากให้ธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับสร้างความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนการใช้จ่าย
แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำเกินไปหรือติดลบ บางคนอาจเลือกที่จะเลื่อนการใช้จ่ายไปก่อน เพราะเชื่อว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ถ้าหากทุกคนชะลอการใช้จ่ายเหมือนกัน ธุรกิจอาจต้องปิดตัว และหลายคนอาจตกงานได้
หากเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย ธปท. ต้องทำอย่างไร
ถ้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ธปท. ต้องอธิบายเหตุผลกับรัฐบาลและประชาชน ผ่านทางจดหมายเปิดผนึก
ในข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงเหตุผลของการออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ วิธีทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าเป้า
กนง. ต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน จนกว่าการติดตามอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 วิธีข้างต้นจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
กนง. เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกจาก กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งหมดแก่ประชาชนด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย